“ขจร” RAiNMaker เปิดตำราสอนครีเอเตอร์ เอาใจ AI ยังไงให้ช่องเติบโต

Phot Credit: CTC2024

คอนเทนต์ครีเอเตอร์ (Content Creator) นับเป็นหนึ่งในอาชีพที่ได้รับความนิยมอย่างมากและมีความเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย (Social Media) อย่างใกล้ชิด เพราะเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ที่สำคัญ นอกจากนี้ อาชีพนี้ยังเป็นเทรนด์ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่การที่จะโลดแล่นให้ได้ในวงการ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอัลกอริทึมและบทบาทของเอไอ (AI)

คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ Editor in Chief, RAiNMaker และผู้จัดงาน iCreator Conference ได้มาไขคำตอบว่า เราจะเอาใจเอไอ พัฒนาคอนเทนต์และช่องอย่างไรให้เติบโตที่งาน CREATIVE TALK Conference 2024 ในหัวข้อ “Social Media Algorithm & Creator Landscape 2024-2025”

คุณขจรได้กล่าวถึงภาพรวมของวงการครีเอเตอร์ในปี 2024 ว่า เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เนื่องจากอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้มีการปรับเปลี่ยน ขณะที่ความสนใจของผู้ใช้งานก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

จากสถิติในปีนี้พบว่า TikTok กลายเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่ได้รับความนิยมสูงสุด แซงหน้า YouTube ซึ่งครองแชมป์ในปีที่แล้ว การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์ต้องดิ้นรนและปรับตัว เพื่อเอาชนะอุปสรรคและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

บก.บห.ของ RAiNMaker เปิดเผยว่า ประเภทของคอนเทนต์ที่เหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ไทยนิยมสร้างสรรค์นั้น มีทั้งหมวดเกมส์และอี-สปอร์ต (E-Sport) แฟชั่นและความงาม วีทูบเบอร์ (VTuber) อาหารการกิน ท่องเที่ยว รวมถึงการเงินและการลงทุน ในขณะที่หมวดคอนเทนต์อย่างรถยนต์ แม่และเด็ก สัตว์เลี้ยง และผู้สูงอายุ ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก แต่มีเม็ดเงินในตลาดสูง ซึ่งถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับคอนเทนต์ครีเอเตอร์หน้าใหม่

Photo Credit: CTC2024

อย่างไรก็ตาม การจะประกอบอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์เป็นอาชีพหลักนั้น จำเป็นต้องมีฐานผู้ติดตามที่แข็งแกร่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะต้องมีผู้ติดตามตั้งแต่ 500,000 คน ถึง 1 ล้านคนขึ้นไป จึงจะสามารถสร้างรายได้ที่เพียงพอได้อย่างมั่นคง รวมถึงต้องศึกษาเรียนรู้กลไกของอัลกอริทึมและเอไอ (AI) ของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เพราะหากไม่เข้าใจแล้วก็เหมือนกับการเดินวนอยู่ในเขาวงกตที่หาทางออกไม่เจอเสียที

AI ครองโลก: อัลกอริทึมควบคุมคอนเทนต์

เมื่อเอไอเข้ามามีบทบาทเพิ่มขึ้น คุณขจรเสนอแนวคิดว่าให้ลองเปลี่ยมุมมองจากที่ว่าวันนี้เราเปิดหน้าไทม์ไลน์ไปจะเจอคอนเทนต์อะไร ให้ลองคิดว่าวันนี้ เอไอจะส่งอะไรขึ้นหน้าฟีดให้เราดูแทน โดยคุณขจรได้แบ่งกลไกของอัลกอริทึมออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. Social Media Algorithm:

พบได้ใน Facebook, Instagram, Linkedin และ LineVoom การแชร์และการกระจายข้อมูลในโซเชียลมีเดียกลุ่มนี้จะมีกุญแจหลักมาจากคนหรือผู้ใช้งาน ประมาณ 85% ของข้อมูลจะมาจากการกดติดตามผู้อื่น ในขณะที่เอไอจะมีบทบาทเพียง 15% เท่านั้น ซึ่งก่อให้เกิดปรากฏการณ์ Echo Chamber ดังนั้น ผู้ใช้จะเห็นเพียงแค่คอนเทนต์ที่ตนเองคล้อยตามหรือเห็นด้วยเท่านั้น ก่อให้เกิดการแบ่งขั้วทางความคิดเป็น 2 ฝั่งตรงข้ามกัน จนกลายเป็นปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะในประเด็นการเมือง

2. Recommendation Media Algorithm:

พบได้ใน YouTube, Twitter และ TikTok ในกลุ่มนี้ เอไอมีบทบาทหลักในการคัดสรรและกระจายข้อมูล ส่วนหน้าที่ของผู้ใช้งานคือการรับชมคอนเทนต์เท่านั้น เช่น YouTube ที่จะแสดงคอนเทนต์ที่ได้รับการแนะนำจากเอไอถึง 50% ซึ่งจะมาจากช่องที่เราไม่ได้กดติดตาม หรือ TikTok ที่จะมีคอนเทนต์ที่มาจากการแนะนำของเอไอถึง 85% บนหน้า For You Page

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มใด เอไอเข้ามามีบทบาทเข้ามาควบคุมการใช้งาน เพราะฉะนั้น คุณขจรจึงอธิบายหลักการทำงานของอัลกอริทึมของเอไอบนโซเชียลมีเดีย (Social Media AI) ที่จะมุ่งเน้นไปที่ 2 ส่วนหลักๆ ดังนี้

1. โครงสร้างของคอนเทนต์ (Content Structure):

เอไอของอัลกอริทึมจะจับรายละเอียดทุกอย่างในคอนเทนต์ เพื่อใช้ในการค้นหาและจัดหมวดหมู่คอนเทนต์นั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่แปลงเป็นข้อความ แคปชั่นของโพสต์ แฮชแท็กต่างๆ ความยาวของคลิปวิดีโอ หรือเพลงประกอบ ซึ่งจะนำพาผู้ใช้งานไปหาคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

2. โครงสร้างของช่อง (Channel Structure):

เอไอของอัลกอริทึมจะส่งคอนเทนต์แบบสุ่มมาให้ผู้ใช้งานดูก่อน เมื่อผู้ใช้งานแสดงให้เห็นว่าชอบช่องหรือคอนเทนต์ประเภทใด เอไอก็จะค้นหาช่องและคอนเทนต์ในรูปแบบเดียวกันมานำเสนอต่อไปอย่างเจาะจงมากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงสร้างของช่องมีตั้งแต่ระดับกว้าง (Mass) สำหรับคอนเทนต์ทั่วไป เช่น สำนักข่าว ฯ ระดับกลาง (Mid-Level) สำหรับคอนเทนต์เฉพาะด้าน เช่น RAiNMaker ไปจนถึงระดับแคบ (Niche) ที่มุ่งเน้นเฉพาะกลุ่ม เช่น MacThai ที่มีข้อมูลข่าวสารของแบรนด์ Apple โดยเฉพาะ

ดังนั้น นอกจากการวางแผนผลิตคอนเทนต์แล้ว ควรคำนึงถึงโครงสร้างของคอนเทนต์และโครงสร้างของช่องตนเองด้วย เพื่อให้เอไอสามารถจับกลุ่มคอนเทนต์ได้อย่างถูกต้อง และนำไปสู่การนำเสนอคอนเทนต์ที่ตรงใจผู้ชม

5 ปัจจัยที่ AI จับตา

นอกเหนือจากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยในการนำเสนอคอนเทนต์อีกมากมายที่ AI คอยจับจ้องเราอยู่ ซึ่งคุณขจร ได้สรุปออกมาเป็น 5 ปัจจัย ดังนี้

1) Interest and Engagement: ความสนใจและการมีส่วนร่วม ทั้งการกดไลค์ หรือการแสดงความคิดเห็นจากผู้ติดตาม

2) Type of Content: รูปแบบคอนเทนต์ ซึ่งรูปแบบที่จะได้รับความนิยมจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ภาพหรือวิดีโอ

3) Recency: ความสดใหม่และทันสมัยของคอนเทนต์ ซึ่งในแต่ละแพลตฟอร์มจะให้ความสำคัญมากน้อยแตกต่างกันไป

4) Past Performance: คุณภาพและผลตอบรับของคอนเทนต์ในอดีต หากเริ่มต้นดีแต่ผลงานก่อนหน้าไม่ดี ก็มีโอกาสที่จะได้รับการจัดอันดับต่ำ

5) Post Performance: ให้ความสำคัญกับทุกส่วนประกอบของแต่ละโพสต์ เช่น ความยาว คลิป เสียง คำพูด คำอธิบาย

ฮาวทู "จีบ AI"

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นว่าอาชีพคอนเทนต์ครีเอเตอร์มีแนวโน้มว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ของอัลกอริทึมในแต่ละแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเพื่อให้ “ถูกใจเอไอ” ถือเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญอย่างมาก โดยคุณขจรได้เปรียบเทียบและยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ให้คิดว่า AI เป็นหญิงสาวคนหนึ่งที่เราอยากจะเข้าไปจีบ โดยที่ตัวเราเองจะต้องมีคุณสมบัติดึงดูดใจ AI ดังนี้

มีเสน่ห์: มีคอนเทนต์ที่น่าสนใจ สามารถสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้ติดตามได้ดี

รักเดียวใจเดียว: ไม่เชื่อมโยงแพลตฟอร์มต้นทางไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ

เป็นคนชัดเจน: กำหนดหมวดหมู่เนื้อหาและโครงสร้างของช่องอย่างชัดเจน

ไม่โกหก: ปฏิบัติตามกฎระเบียบของแพลตฟอร์มอย่างเคร่งครัด ไม่ละเมิดกฎเกณฑ์ใด ๆ

สม่ำเสมอ: มีความสม่ำเสมอในการนำเสนอคอนเทนต์ รักษามาตรฐานและคุณภาพของคอนเทนต์ให้คงที่

สุดท้ายนี้ แม้ว่าเทคโนโลยีจะช่วยอำนวยความสะดวกในทุกด้านไม่ได้ แต่การทำความเข้าใจและการสร้างความผูกพันกับผู้ชม รวมทั้งการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ดีและมีคุณภาพ ก็เป็นอีกหัวใจสำคัญที่จะการันตีความสำเร็จในระยะยาว

Author picture

By Piyatida Treesuwan, Sunita Phanraksa

ข่าวล่าสุด

อนาคตวงการครีเอเตอร์ไทยในปี 2035: บทวิเคราะห์จากงานวิจัย FORESIGHT STUDY

ผลการศึกษาของ Tellscore และ FutureTales LAB by MQDC ในงาน THAILAND INFLUENCER AWARDS เผยภาพอนาคตวงการครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ไทยใน 6 มิติสำคัญ

Read More »

ดาต้าเซ็ตร่วมประชุม World Media Summit 2024 ถกประเด็น AI เปลี่ยนโลกสื่อ

ดาต้าเซ็ตเข้าร่วมการประชุม World Media Summit ครั้งที่ 6 ภายใต้หัวข้อ “ปัญญาประดิษฐ์กับการเปลี่ยนแปลงของสื่อ” ณ เมืองอุรุมชี ประเทศจีน 14-17 ต.ค. 67

Read More »

ดาต้าเซ็ตครบรอบ 25 ปี ขอบคุณทุกความปรารถนาดีจากลูกค้าและพันธมิตร

ดาต้าเซ็ต และสำนักข่าวอินโฟเควสท์ ขอขอบคุณในไมตรีจิตจากลูกค้า พันธมิตร และตัวแทนหน่วยงานทุกท่านที่แวะมาร่วมแสดงความยินดีกับเราในโอกาสครบรอบ 25 ปีของการดำเนินธุรกิจ

Read More »

ดาต้าเซ็ตคว้ารางวัล 3rd Prize Winner จากงาน Thailand Influencer Awards 2024

ดาต้าเซ็ตได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ 3rd Prize Winner ในสาขา Best Media, Publisher, Broadcasting Influencer Campaign จากงาน Thailand Influencer Awards 2024 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567…

Read More »

บรรยากาศเปิดตัว Media Intelligence Solutions บูธดาต้าเซ็ตในงาน MIT2024

ขอบคุณผู้เข้าร่วมงานทุกท่านที่ได้มาพูดคุยและลงทะเบียนทดลองใช้บริการด้าน Media Monitoring & Social Listening ของเราในงาน Marketing Insight & Technology Conference 2024 (MITCON 2024)…

Read More »

บทพิสูจน์พลัง Collaboration ผ่านมุมมอง Guss Damn Good

คุณนที เจ้าของแบรนด์ไอศกรีมสุดครีเอทีฟ เผยเคล็ดลับการร่วมมือระหว่างแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จ ไม่พลาดทุกแง่มุมของ Collaboration ที่จะทำให้ธุรกิจคุณเติบโต

Read More »