กลับมาเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอีกรอบกับโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท หรือ การเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือ ดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) หลังจากที่เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ที่ผ่านมา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดที่ทำท่าว่าจะไม่ได้มีการแจกเงินดิจิทัลแบบถ้วนหน้าซะแล้ว แต่อาจจะมีการปรับเงื่อนไข โดยจะเลือกแจกเฉพาะผู้มีรายได้น้อย
เมื่อทางเลือกที่ว่า…อาจจะต้องตัดสิทธิ์คนรวยออก ทำให้คณะทำงานโครงการดังกล่าวจึงต้องพยายามหาคำจำกัดความของคำว่า “คนรวย” ออกมา จึงเป็นที่มาของข้อสรุป 3 เกณฑ์ใหม่ที่เตรียมจะเสนอบอร์ดชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ให้เป็นผู้ตัดสินใจสัปดาห์หน้า และก็ทำให้เป็นข้อถกเถียงกันอย่างกว้างขวางอยู่ในโซเชียลมีเดีย
ข้อเสนอ 3 ทางเลือกเติมเงิน “ดิจิทัลวอลเล็ต” มีอะไรบ้าง
- ให้สิทธิเฉพาะผู้ยากไร้ ราว 15-16 ล้านคน โดยใช้ฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้งบประมาณราว 1.5 แสนล้านบาท
- ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 25,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 1 แสนบาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.3 แสนล้านบาท
- ตัดกลุ่มผู้มีเงินเดือนเกิน 50,000 บาท และ/หรือ มีบัญชีเงินฝากเกิน 5 แสนบาทออก จะเหลือผู้ได้สิทธิ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณราว 4.9 แสนล้านบาท
ว้าวุ่นเลย! มีเงินแค่ไหนถึงเรียก “คนรวย”
ว้าวุ่นเลยทีนี้! เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่เห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องนิยามความรวย มีเงินแค่ไหนถึงเรียกว่า “รวย” ร้อนแรงจนติดเทรนด์คำค้นหาบน Google โดยข้อมูลจาก Google Trends พบว่า คนไทยค้นหา “Digital Wallet” สูงสุดในเวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 25 ต.ค. หลังทราบข่าวเกณฑ์ใหม่ในการแจกเงินดิจิทัลไม่กี่ชั่วโมง และสูงสุดในรอบสัปดาห์ ซึ่งรวมถึงการค้นหาด้วยคำว่า “ดิจิทัลวอลเล็ต” “แจกเงินดิจิทัล” อีกด้วย
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า “ดิจิทัลวอลเล็ต” “แจกเงินดิจิทัล” ได้รับความสนใจและมีการพูดถึงกันอย่างต่อเนื่องในสังคมออนไลน์ ตั้งแต่ที่พรรคเพื่อไทยขึ้นเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ทั้งเรื่องที่มาของเงินดิจิทัลที่จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่ได้ข้อสรุป มีแต่คำถามซึ่งยังไร้คำตอบจากรัฐบาล โดย DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและฟังเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้รวบรวมการกล่าวถึง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ในสื่อโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบ เอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) และติ๊กต็อก ในช่วงวันที่ 1-26 ต.ค. 66 พบว่า ชาวโซเชียลได้มีการโพสต์และทวีตข้อความเกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีจำนวนการกล่าวถึง (Mention) และ การมีส่วนร่วม (Engagement) หรือ Buzz เป็นจำนวนมากถึง 32,883,369 ครั้ง โดยอันดับหนึ่งมาจากช่องทางติ๊กต็อก 29,319,992 รองลงมาคือ เฟซบุ๊ก 3,352,787 และ อินสตาแกรม 104,946 ตามลำดับ
ส่องความเห็นโซเซียลหลังรัฐส่อแววจะไม่แจกถ้วนหน้า!
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ พาส่องความเห็นชาวโซเชียลในแพลตฟอร์มต่าง ๆ พบว่า เสียงส่วนใหญ่คัดค้าน ไม่เห็นด้วยเนื่องจากมองว่าไม่เป็นไปตามที่พรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำรัฐบาลหาเสียงไว้ และมองว่าหากดำเนินการปรับเงื่อนไขตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ จริง เป็นการเลือกปฎิบัติ และอาจไม่ได้ส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
ส่วนหนึ่งของเสียงคัดค้าน/ไม่เห็นด้วย
- การแจกเงินนโยบายนี้เกิดด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลเศรษฐาต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การกระตุ้นเกิดได้จากคนทุกระดับรายได้ ไม่คิดว่าเฉพาะรายได้ต่ำกว่า 25,000 บาท ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้กลุ่มเดียว
- ถ้าให้เฉพาะคนจนจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร ถ้าไม่ให้ทุกคนก็ไม่ควรให้ ให้เพื่ออะไร มีประโยชน์อย่างไร เป็นการแจกเงินโดยไม่มีเหตุผล
- ไหนว่าเป็นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ สุดท้ายก็เป็นได้แค่นโยบายสังคมสงเคราะห์ ไม่ต่างจากของ “ลุง” เมื่อก่อน
- นโยบายไม่ตรงปก หักหลัง ประชาชนไม่เชื่อ เสื่อมศรัทธา มีผลต่อการบริหาร และ เลือกตั้งสมัยหน้า
- ถ้าจะตัดเกณฑ์แบบนี้ เอาคนละครึ่งดีกว่า แจกให้ทุกคนเหมือนเดิม แต่รัฐใช้เงินแค่ 50%
- สุดท้ายก็แค่วาทกรรมเหมือนเดิม รู้ทั้งรู้ว่าเงินประเทศไม่พอ
- บอกว่า 16 ปีขึ้นไปได้ทุกคน ไหนบอกว่าคิดใหญ่-ทำเป็น ไม่เหมือนตอนที่หาเสียงไว้
- นโยบายขายฝัน
ส่วนหนึ่งของเสียงเห็นด้วย
- ทำถูกแล้ว เพราะหลายคนไม่อยากได้ ให้คนที่อยากได้ดีที่สุด
- ตัดออกบ้างถูกแล้ว เงินหมื่นเดียวไม่จำเป็นกับคนที่มีเงิน หรือคนรวยเลย
- นำภาษีคนรวยช่วยคนจนลดช่องว่างทางสังคม คนรวยเอาเปรียบกอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรประเทศมาเยอะแล้ว
- แจกคนจนจริงๆ เห็นด้วย เพราะคนจนทุกบาททุกสตางค์มีค่ามาก
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ยังคงเป็นที่พูดถึงกันอีกยาว ๆ ในสังคม จนกว่ารัฐบาลจะมีความชัดเจนมากกว่านี้ เนื่องจากยังมีอีกหลายคำถามจากสังคมที่ยังไม่ได้รับคำตอบ ทั้งที่มาของเงินดิจิทัล ความเหมาะสมของนโยบาย ความคุ้มค่าของเงินมหาศาลที่จะนำมาใช้ขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวที่จะเป็นเพียงแค่การตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่
อ้างอิงข้อมูล: ZoomIn: โซเซียลเดือด!! รื้อเกณฑ์แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต | สำนักข่าวอินโฟเควสท์