เจาะอินไซต์อาหารญี่ปุ่น เมนูและราคาไหนถูกใจคนไทย

การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Social Listening เผยพฤติกรรมคนไทยกับอาหารญี่ปุ่นที่น่าสนใจ โดย ซูชิ ขึ้นแท่นเมนูยอดฮิตด้วยยอดเอ็นเกจเมนต์สูงสุด ด้านแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นยอดนิยม Yayoi ครองอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย Sushiro และ ZEN สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่าย พบว่าคนไทยให้ความสนใจช่วงราคา 251-500 บาทต่อมื้อต่อคนมากที่สุด โดยผู้บริโภคเน้นความคุ้มค่าที่ตอบโจทย์ทั้งรสชาติและประสบการณ์ ขณะที่ยากินิกุและชาบูยังคงเป็นตัวเลือกสำหรับมื้อพิเศษ

ปี 2025 “อาหารญี่ปุ่น” ยังครองใจผู้บริโภคชาวไทยอย่างเหนียวแน่น ไม่ใช่แค่เพียงมื้อพิเศษในโอกาสพิเศษอีกต่อไป แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมการกินที่คนไทยหลายคนนิยมเลือกรับประทานในชีวิตประจำวันตั้งแต่ซูชิ ซาชิมิ ราเมน ชาบู ยากินิกุ และ ข้าวหน้าต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นเมนูโปรดของคนหลากหลายช่วงวัย ซึ่งความนิยมนี้เองสะท้อนผ่านการพูดถึง (Mention) และการมีส่วนร่วม (Engagement) จำนวนมากบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมของผู้บริโภคและการเติบโตของตลาดอาหารญี่ปุ่นในไทย

บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้รวบรวมข้อมูลจากโซเชียลมีเดียผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคในสังคมออนไลน์ (Social Listening) ระหว่างวันที่ 22 เมษายน – 21 พฤษภาคม 2568 เพื่อนำมาวิเคราะห์ Insight เกี่ยวกับ “เทรนด์อาหารญี่ปุ่นในไทย” ทั้งในแง่ของความนิยมและพฤติกรรมการบริโภคอาหารญี่ปุ่นของคนไทย

อินไซต์จานโปรด! เมนูไหนที่คนไทยชอบโพสต์

จากข้อมูลที่รวบรวมและวิเคราะห์ผ่าน Social Listening เสียงสะท้อนจากโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นโพสต์รีวิวร้าน แชร์ภาพอาหาร หรือ คอมเมนต์ต่าง ๆ ช่วยให้เราไขคำตอบว่า “จานโปรด” ของคนไทยคืออะไร ความนิยมเหล่านี้สามารถวัดได้จากยอดเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) ซึ่งช่วยให้เราเห็นภาพชัดเจนว่าเมนูไหนมาแรง และเมนูไหนถูกพูดถึงมากที่สุดในโลกออนไลน์

เมนู “Sushi” เมนูยอดฮิตของคนไทย ได้รับ Engagement สูงถึง 50.2% ด้วยความหลากหลายทั้งในด้านรสชาติ วัตถุดิบ ทั้งซูชิแบบดั้งเดิมหรือแบบฟิวชัน รวมถึงประสบการณ์การรับประทานที่หลากหลาย เช่น A la carte ซูชิสายพาน แฮนด์โรลซูชิ (เทมากิซูชิ) โอมากาเสะ และ บุฟเฟต์

เมนู “อาหารเซต” ที่เรียกว่า เทโชกุ (Teishoku) ได้รับ Engagement 23.7% อาหารชุดสไตล์ญี่ปุ่น มักประกอบด้วย ข้าว ซุปมิโสะ อาหารจานหลัก และเครื่องเคียง โดยคำนึงถึงความสมดุลของคุณค่าทางโภชนาการ จึงเป็นมื้ออาหารที่ผู้บริโภคนิยมเลือกรับประทาน

เมนู “ปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น (Yakiniku)” ได้รับ Engagement 10.4% ปิ้งย่างบนเตาถ่านแบบญี่ปุ่น ทำให้ได้กลิ่นหอมของถ่าน และดึงรสชาติของเนื้อที่ไม่ผ่านการปรุง อีกทั้งเป็นหนึ่งในเมนูที่อยู่ในโอกาสพิเศษของหลายคน การพบปะคนที่รัก หรือหากมาคนเดียวบางร้านก็มีบาร์สำหรับสาย Introvert อีกด้วย

เมนู “ชาบู” อาหารประเภทหม้อไฟ ได้รับ Engagement 10.4% เมนูโปรดของหลายคนที่ชอบน้ำซุปร้อน ๆ สามารถเลือกสรรวัตถุดิบลงไปลวกในหม้อด้วยตนเอง เปรียบเสมือนเป็นหนึ่งในกิจกรรมร่วมกันระหว่างมื้ออาหารกับคนที่เราทานด้วย

เมนู “ราเมน” ได้รับ Engagement 3.3% เมนูเส้นของญี่ปุ่น พร้อมน้ำซุปหอมๆ ที่มีรสชาติหลากหลายตามการปรุงของแต่ละจังหวัดในญี่ปุ่น รวมถึงการผสมผสานรสชาติแบบฟิวชันให้ถูกปากคนไทย

เมนู “ข้าวหน้าแกงกะหรี่ญี่ปุ่น ทงคัตสึ และเทมปุระ”  ได้รับ Engagement รวมกันอยู่ที่ 2% เป็นอีกสามประเภทอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมสำหรับสายของทอด กรุบกรอบ และชื่นชอบความหอมจากเครื่องเทศในแกงกะหรี่ 

10 แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นยอดฮิตในรอบเดือน

แม้อาหารญี่ปุ่นจะมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ แต่หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคก็คือ “แบรนด์” ร้านอาหาร ด้วยจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในไทย การสร้าง Branding และความน่าเชื่อถือของแบรนด์จึงกลายเป็นกุญแจสำคัญของการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ทั้งในด้านคุณภาพ ไปจนถึงประสบการณ์การรับประทานที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

เมื่อวิเคราะห์จากสัดส่วนยอดเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) บนแพลตฟอร์มออนไลน์ จะเห็นภาพความนิยมของผู้บริโภคต่อแบรนด์อาหารญี่ปุ่นได้อย่างชัดเจน โดยข้อมูลจาก Social Listening พบว่า แบรนด์ Yayoi ครองอันดับ 1 ด้วยยอด Engagement สูงถึง 31.1% ตามมาด้วย Sushiro ร้านซูชิสายพานชื่อดังที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับ 2 ที่ 20.3% อันดับ 3 คือ ZEN ซึ่งมียอด Engagement อยู่ที่ 11.2% AKA เป็นอันดับ 4 ที่ 9.6% และ แบรนด์ในเครือ Oishi Group อันดับ 5 ที่ 6.5%

สำหรับแบรนด์อื่น ๆ ที่อยู่ใน Top 10 ได้แก่ Mo-Mo-Paradise (4.6%), KOUEN (4.5%), Kiiro Sushi (4.3%), Shabushi (4.0%) และ Yakiniku Like (3.9%) ตามลำดับ

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่า 5 ใน 10 เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นประเภท ”ซูชิ“ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ในหัวข้อก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า “ซูชิ” คือเมนูอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย ความนิยมในเมนูนี้จึงส่งผลต่อการมีส่วนร่วม (Engagement) ของแบรนด์ที่มีความโดดเด่นด้านซูชิโดยตรงอย่างชัดเจน

ราคาเท่าไรโดนใจ? เจาะลึกช่วงราคาที่ลูกค้ายอมจ่าย

นอกจากชื่อเสียงของร้านอาหารแล้ว “ราคา” ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเลือกบริโภคอาหารญี่ปุ่นของผู้คนในปัจจุบัน ด้วยตัวเลือกที่หลากหลายตั้งแต่ร้านซูชิสายพานราคาย่อมเยา ไปจนถึงร้านโอมากาเสะสุดพรีเมียม ผู้บริโภคจึงมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนตามงบประมาณและความคาดหวังในการรับประทาน

เราจะพาไปสำรวจว่า “ราคาเฉลี่ยต่อมื้อต่อคน” ในช่วงราคาใดที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจากผู้บริโภค โดยอ้างอิงจากจำนวน Engagement บนโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เห็นแนวโน้มและพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในไทยที่มีต่อระดับราคาของอาหารญี่ปุ่น มาดูกันว่าราคาที่ “คุ้มค่า” ในมุมมองของคนไทยอยู่ที่เท่าไร? กันแน่!

หากมองในภาพรวมของอาหารญี่ปุ่น พบว่า ช่วงราคาที่ 251-500 บาทต่อมื้อต่อคน ได้รับ Engagement สูงถึง 40.9% (150,535 ครั้ง) รองลงมาเป็น ช่วงราคา 101-250 บาทต่อมื้อ ได้รับ Engagement 33.2% (122,349 ครั้ง) ช่วงราคา 501-1,000 บาทต่อมื้อ 23.9% (88,241 ครั้ง) และมากกว่า 1,000 บาทต่อมื้อ 2% (7,375 ครั้ง) ตามลำดับ

แต่เมื่อจำแนกตามประเภทอาหารญี่ปุ่น จะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ชาวโซเชียลให้ความสนใจต่อช่วงราคาในแต่ละประเภทอาหารอย่างไร

Sushi: ช่วงราคา 251-500 บาทต่อมื้อ ได้รับ Engagement สูงถึง 60.8% สะท้อนว่าลูกค้ามองว่าเป็นช่วงราคาที่เข้าถึงได้ ทั้งในแง่ของราคา คุณภาพวัตถุดิบ และประสบการณ์ในการรับประทาน

อาหารเซต: ช่วงราคา 101-250 บาทต่อมื้อ ได้รับความสนใจสูงถึง 92.8% จากยอดเอ็นเกจเมนต์สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียมองว่าอาหารเซตเป็นมื้ออาหารประจำวันที่ตอบโจทย์

Yakiniku & Shabu: ช่วงราคา 501-1,000 บาทต่อมื้อ โดย Yakiniku ได้รับความสนใจ 65.1% และ Shabu 56.6% จากยอดเอ็นเกจเมนต์แสดงให้เห็นว่า อาหารปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่นและชาบูยังคงเป็นตัวเลือกมื้อสำคัญที่ลูกค้าชื่นชอบ

โซเชียลให้ความสำคัญกับอะไร? เมื่อพูดถึงอาหารญี่ปุ่น

เมื่อพูดถึง “อาหารญี่ปุ่น” บทสนทนาของผู้คนบนโซเชียลมีเดียให้ความสำคัญกับ “คุณภาพและรสชาติของอาหาร” มากที่สุดเป็นอันดับแรก ด้วยจำนวนการกล่าวถึง (Mention) ที่สูงถึง 46.5% อีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญไม่แพ้กันและได้รับการพูดถึงเป็นอันดับรองลงมา คือ “ราคาและความคุ้มค่า” ที่ได้รับการกล่าวถึง (Mention) มากถึง 42.3%

นอกจากคุณภาพและราคาของอาหารที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเป็นหลักแล้ว พบว่า อีกหนึ่งคีย์เวิร์ดที่ปรากฏบ่อยครั้งบนโซเชียลมีเดียและได้รับการพูดถึงไม่น้อยเลย คือ คำว่า “เชฟเป็นคนญี่ปุ่นแท้ๆ” และ “เจ้าของร้านเป็นคนญี่ปุ่นแท้ๆ” ซึ่งกลายเป็นจุดขายสำคัญที่ช่วยการันตีความเป็นต้นตำรับ (authenticity) ของมื้ออาหารในสายตาผู้บริโภคชาวไทย โดยมีสัดส่วนการถูกพูดถึง (Mention) อยู่ที่ 11.2%

จากการสำรวจความคิดเห็นและการพูดถึงร้านอาหารญี่ปุ่นของผู้คนในโลกออนไลน์ นอกจากแบรนด์เชนชื่อดังที่หลายคนคุ้นเคยแล้ว ยังมีร้านอาหารญี่ปุ่นขนาดกลางและขนาดเล็กอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภค เนื่องจากมีเชฟชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ลงมือปรุงอาหารเอง หรือมีเจ้าของร้านชาวญี่ปุ่นคอยควบคุมคุณภาพอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะร้านประเภทแฮนด์โรลซูชิ และโอมากาเสะ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคไม่ได้ให้ความสำคัญแค่เพียงรสชาติหรือราคาเท่านั้น แต่ยังมองหา “ประสบการณ์ที่ใกล้เคียงกับต้นตำรับจากประเทศญี่ปุ่นจริงๆ”

การระบุว่าเชฟหรือเจ้าของร้านเป็น “ชาวญี่ปุ่นแท้ๆ” กลายเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจในสายตาผู้บริโภค อีกทั้งยังทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ากำลังได้รับประสบการณ์การรับประทานอาหารญี่ปุ่นแบบออริจินัล ซึ่งช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับมื้ออาหารในมุมมองของผู้บริโภค

กล่าวได้ว่า “เชฟและเจ้าของร้านชาวญี่ปุ่น” ไม่ได้เป็นเพียงผู้ที่อยู่เบื้องหลังคุณภาพของอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็น “สัญลักษณ์ทางจิตวิทยา” ที่ช่วยสร้างความแตกต่างในกลุ่มธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีการแข่งขันสูงในไทยอีกด้วย

ข้อมูลทั้งหมดที่นำมาวิเคราะห์หา Insight รวบรวมข้อมูลจาก DXT360 (Social Listening and Media Monitoring Platform) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด (dataxet:infoquest) โดยเก็บข้อมูลระหว่าง 22 เมษายน – 21 พฤษภาคม 2568

Author picture

By Sapimnat Thongkongkia, Phornchanit Plienpho

ข่าวเกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เจาะอินไซต์อาหารญี่ปุ่น เมนูและราคาไหนถูกใจคนไทย

การวิเคราะห์ข้อมูลจาก Social Listening เผยพฤติกรรมคนไทยกับอาหารญี่ปุ่นที่น่าสนใจ โดย ซูชิ ขึ้นแท่นเมนูยอดฮิตด้วยยอดเอ็นเกจเมนต์สูงสุด ด้านแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นยอดนิยม Yayoi ครองอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย…

Read More »

โซเชียลจับตา “ตึกถล่ม-อาฟเตอร์ช็อก” ประเด็นร้อนหลังแผ่นดินไหว

จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งแรงสั่นสะเทือนถึงหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากแรงสั่นสะเทือนที่ส่งผล…

Read More »

เจาะเทรนด์ “ซูชิ” เมนูฮิตติดกระแส คนแชร์สนั่นรีวิวแน่น

“ซูชิ” อาหารญี่ปุ่นยอดนิยมที่ครองใจคนไทยมาทุกยุค ตั้งแต่โอมากาเสะสุดหรู ร้านเชนในห้างสรรพสินค้าไปจนถึงซูชิตลาดนัดราคาย่อมเยา ความนิยมนี้สะท้อนผ่านกระแสโซเชียลมีเดียที่พุ่งแรงจากยอดเอ็นเกจเ…

Read More »

“มัทฉะ” ฟีเวอร์! แบรนด์ไหน โซเชียลเลิฟ

“มัทฉะ” กลายเป็นเครื่องดื่มยอดฮิตที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดียด้วยยอดเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) สูงถึง 5,219,570 ครั้ง ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน ส่งผลให้ร้านค้าหลายแห่งประสบปั…

Read More »

เสียงจากโซเชียล จี้รัฐ! แก้วิกฤตฝุ่น PM2.5

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม ปัญหามลพิษทางอากาศจาก “ฝุ่น PM2.5” กลายเป็นสิ่งที่คนไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะเมื่อค่าฝุ่นมักเกินมาตรฐานบ่อยครั้ง ปัญหานี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่…

Read More »

ส่องแนวโน้มพฤติกรรมการจับจ่ายเทศกาลตรุษจีน

“ตรุษจีน” เป็นหนึ่งในเทศกาลที่คนไทยให้ความสำคัญ และเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากในรอบปี เนื่องจากประเทศไทยมีประชากรเชื้อสายจีนจำนวนมาก ทำให้วัฒนธรรมจีนถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยม…

Read More »