"เสรี" ผู้บริหาร ABM Connect ชี้ปี 67 อินฟลูเอนเซอร์มาแรง สื่อเมนสตรีม-ออนไลน์แข็งแกร่ง ผู้บริโภคใส่ใจสิ่งแวดล้อมและแนวคิด ESG

หากจะมองภาพรวมสื่อและความเคลื่อนไหวในวงการหลังจากที่สื่อไทยได้ฟันฝ่ากระแสดิสรัปชันและโควิดกันไปแล้ว “ปี 2567” จะมีปรากฎการณ์อะไรให้สื่อ แบรนด์ต่าง ๆ รับมือ รูปแบบการใช้โซเชียลมีเดีย จะเป็นอย่างไร มุมมองจากคุณเสรี ศิรินพวงศากร กรรมการบริหารบริษัท เอบีเอ็ม คอนเนค จำกัด (ABM Connect) ซึ่งมีประสบการณ์ในวงการประชาสัมพันธ์และการตลาดมาอย่างยาวนาน และอีกบทบาทกับการเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของมีเดียแพลตฟอร์ม ผู้บริโภค และสื่อมวลชนได้เป็นอย่างดี

คุณเสรี ศิรินพวงศากร กรรมการบริหารบริษัท เอบีเอ็ม คอนเนค จำกัด

สำหรับภาพรวมและแนวโน้มของสื่อไทยนั้น คุณเสรีมองว่า สื่อกระแสหลักหรือเมนสตรีม (Mainstream media) ที่ยังคงอยู่ได้มาจนถึงปัจจุบันนั้น สื่อกลุ่มนี้เรียกได้ว่าผ่านร้อนผ่านหนาวจนกลายเป็นสื่อที่มีความแข็งแรงและแข็งแกร่งไปแล้ว ในขณะที่ออนไลน์พับลิชเชอร์ (Online Publisher) ที่เข้าสู่วงการเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ หลายเจ้าได้กลายมาเป็นสื่อที่มีชื่อเสียงอย่างที่เรารู้จักกันดี และนับจากนี้จำนวนของสื่อกระแสหลักและออนไลน์พับลิชเชอร์คงจะเพิ่มขึ้นไม่มากเท่าไรนัก

อินฟลูเอนเซอร์มา โซเชียลมีเดียสตรอง Out of Home และทีวียังไม่ถูกทิ้ง

หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาในปี 2567 คือ กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ เนื่องจากประสิทธิภาพและความสามารถในการเข้าถึงผู้บริโภคหรือผู้เสพสื่อของกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์นั้นมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการเสพสื่อผู้บริโภค ในขณะที่แบรนด์ บริษัท หรือองค์กรก็ต้องการเข้าถึงและเชื่อมโยงกับผู้บริโภคหรือผู้เสพสื่อมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การที่อินฟลูเอนเซอร์เป็นกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่สามารถสร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) และเข้าถึงผู้บริโภคหลากหลายกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้อินฟลูเอนเซอร์เป็นกลุ่มที่ถูกจับตา

สิ่งที่ผมว่าน่าจะต้องจับตามองกันมากขึ้นก็คือเรื่องของการใช้อินฟลูเอนเซอร์นะครับ ซึ่งวันนี้ รู้อยู่แล้วว่าอินฟลูเอนเซอร Fragment ไปเยอะมาก คือเกิดขึ้นและแตกแขนงไปตาม Interest และรูปแบบของคอนเทนต์ที่หลากหลายมาก โจทย์ของแบรนด์คือจะทำยังไงให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ถูกต้องมากที่สุด เพราะในแง่ของเมนสตรีมกับออนไลน์พับลิชเชอร์เขามี Category ของเขาอยู่แล้ว เขามีเซ็คชันที่เกี่ยวข้องกับลูกค้า ที่วางแผนจะคอนเนคกับผู้บริโภคผ่านสื่อต่าง ๆ

นอกจากนี้ การที่อินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงหรือมีคอมมูนิตี้ (Community) เป็นของตัวเอง หรืออินฟลูเอนเซอร์บางรายที่คอมมูนิตี้ได้พัฒนาไปสู่ “แฟนด้อม” การใช้กลยุทธ์การตลาดอย่าง Fandom Marketing กับอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้หรือกลุ่มอื่น ๆ จึงกลายเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมสำหรับการทำแคมเปญการตลาด การสร้างไวรัลในหมู่ชาวโซเชียล และสร้างแรงขับเคลื่อนกลุ่มผู้ซื้อที่มีพลังและความภักดีต่อเจ้าของด้อม

สำหรับสื่อเมนสตรีมและออนไลน์พับลิชเชอร์นั้น คุณเสรีมองว่า เป็นกลุ่มที่แบรนด์หรือบริษัทต่าง ๆ เลือกใช้เป็นช่องทางในการแผยแพร่คอนเทนต์ของบริษัทมาโดยตลอด เพราะสื่อทั้ง 2 กลุ่มนี้ได้นำเสนอพื้นที่หรือเซ็คชันเพื่อรองรับคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของแบรนด์หรือธุรกิจอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดถึงการมีส่วนร่วมและการเชื่อมโยงเข้ากับผู้บริโภคหรือผู้เสพสื่อในปัจจุบัน อินฟลูเอนเซอร์ค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพสูงในการทำหน้าที่เหล่านี้

นอกจากสื่อเมนสตรีมและออนไลน์พับลิชเชอร์แล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สื่อนอกบ้าน (Out of Home) ก็เป็นอีกสื่อที่ทางเอเจนซี่และลูกค้ายังให้ความสนใจที่จะใช้งาน เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ออกมาใช้ชีวิตกันอย่างเต็มที่แล้วเช่นเดียวกับสื่อทีวีที่การซื้อโฆษณาทีวียังเป็นอีกทางเลือกที่ยังไม่หายไปไหน แม้ว่า ผู้บริโภคจะหันไปดูรายการทีวีบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งหรือยูทูบมากขึ้นก็ตาม

ในเรื่องของสื่ออื่นๆ เช่น ในเรื่องของสื่อนอกบ้านหรือ Out of home เอง ผมว่า Out of home ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่จะต้องมองด้วยเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งกับอะไรที่เป็น Traditional advertising ในเรื่องของทีวี มันก็ยังเป็นที่พูดถึงหรือใช้อยู่นะครับ

เพียงแต่ว่าจะบริหารงบยังไงที่ให้ผลดีที่สุด อีกทั้งตรงเป้าหมาย ให้เข้าถึง แล้วคอนเนคกับผู้บริโภคได้ในท้ายที่สุด นั่นคือสิ่งที่สำคัญ เพราะวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของอะไรก็แล้วแต่ สิ่งหนึ่งที่จำเป็นจะต้องทำก็คือการเข้าถึงผู้บริโภคให้ตรงจุดให้มากที่สุดคุณเสรี กล่าว

ติ๊กต๊อกยังปัง แต่จะยิ่งปังถ้า “ต่อติด” หรือ “คอนเนค” ผู้บริโภคได้ตรงจุด

ถ้าจะเจาะไปที่กลุ่มโซเชียลมีเดียแล้ว ติ๊กต๊อกเป็นสื่อที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคยังชอบดูวิดีโอสั้น หรือ Short-form Video อยู่  และติ๊กต๊อกเองยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มไปสู่วงการอีคอมเมิร์ซด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ขายสินค้า แต่การใช้ติ๊กต๊อกเป็นช่องทางในการเผยแพร่คอนเทนต์นั้นก็ต้องพิจารณาถึงเรื่องกลุ่มเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของแคมเปญด้วยเช่นกัน

ติ๊กต๊อกเข้ามาในช่วงที่ตอบโจทย์เทรนด์ Short-form video พอดี แล้วก็มีรูปแบบคอนเทนต์ที่หลากหลายมาก เป็นเรื่องของการต่อติดกับ Consumer Journey ล้วน ๆ เลย เพราะฉะนั้นเราถึงได้บอกว่าสุดท้ายไม่ว่าติ๊กต๊อกจะไปต่อไปไกลแค่ไหน มันต้องคอนเนคกับ Consumer Journey ณ เวลานั้น ๆ ให้ได้ ผมมองว่า ติ๊กต๊อกก็ยังเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองมาก ๆ ในเรื่องของการใช้ช่องทาง แพลตฟอร์มที่เป็นเพื่อนร่วมทางกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี การใช้ติ๊กต๊อกเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่คอนเทนต์ก็มีข้อควรพิจารณาด้วยเช่นกัน ด้วยคาแรคเตอร์ของติ๊กต๊อกที่แตกต่างจากสื่ออื่น และกลุ่มผู้ใช้งานนั้นมีความหลากหลาย

สิ่งที่องค์กรต้องคำนึงถึงคือ ไม่มีแพลตฟอร์มไหนตอบโจทย์สำหรับทุกแบรนด์ บางคอร์ปอเรทที่เขามีติ๊กต๊อกอยู่ในลิสท์ช่องทางการสื่อสาร อาจจะต้องไปทบทวนก่อนว่าเป้าหมายหรือ Purpose ของคุณคือทำเพื่ออะไร ถ้าเกิด Purpose ของคุณเป็น Business to Business (B2B) ผมว่าติ๊กต๊อกอาจจะยังไม่ใช่ช่องทางหลัก

แต่ถ้าเป็นแบรนด์คอนซูเมอร์จ๋า ก็ต้องบอกว่า คอนซูเมอร์แนวไหนอีก มันก็ไม่ใช่ทุกสินค้าที่จะเหมาะกับติ๊กต๊อก

แล้วก็มีคุยกับลูกค้า บางทีเราก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่า Purpose คืออะไร จะได้ตกตะกอนในการเลือกช่องทางการสื่อสาร มองให้เป็นกลยุทธ์ ใช้ข้อมูล Insight เป็นเข็มทิศ  ไม่กระโดดเข้าๆ ออกๆ มันจะเหมือนวิ่งตามกระแสและไม่มีทิศทางที่ชัดเจน

ลูกค้าของเรามีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ B2B ยัน B2C  ซึ่งต่างก็มีความท้าทายที่แตกต่างกันไป  อย่าง B2C ก็จะต้องกำหนดออกมาว่า C (คอนซูเมอร์) ของคุณคือใคร  แล้วใช่มั้ยที่ไปแพลตฟอร์มตรงนั้น ก็ต้องปรับแนวคิด และกลยุทธ์ให้เหมาะสม”

การที่จะเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้ตรงจุด ไม่ว่าจะใช้สื่อแพลตฟอร์มใดนั้น Consumer Journey หรือการใช้ชีวิตและพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ และถ้าเมื่อใดก็ตามที่เราสามารถทำอะไรที่โดนใจหรือเตะตาผู้บริโภค อีกทั้งยังตอบสนองในสิ่งที่ผู้บริโภคกำลังมองหาได้แล้ว เมื่อนั้น คอนเทนต์หรือสินค้าของเราก็จะเข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภค

การที่เราจะคอนเนคกับคอนซูเมอร์ได้ยังไง มันไม่มีอะไรเป็นกฎตายตัวนะครับ มันเป็นเรื่องของการดู Journey ของคอนซูเมอร์หรือว่ากลุ่มเป้าหมายที่เราจะคุยกับเขา ในวันนึง ตั้งแต่ตื่นขึ้นมาจนเข้านอนเขาทำอะไรบ้าง แล้วอะไรที่ทำให้เขารู้สึกแบบว่า คอนเทนต์ที่เขาได้รับ ทำยังไงให้เขารู้สึกว่าอันนี้มันใชเขา  

คอนซูเมอร์จะซื้อของ มันไม่ใช่แค่เรื่อง Awareness แต่มันเป็นเรื่อง “What’s in it for me?” มันมีอะไรที่เกี่ยวข้องหรือคอนเนคกับฉันได้ มันทัชใจของเขามากกว่า จากตรงนี้ ต่อเนื่องไปถึงการจะทำยังไงให้แชนแนลสื่อ หรือคอนเทนต์ของสื่อเอง นอกจากเตะตาเขาแล้วยังรู้สึกว่า เฮ้ย อันนี้มันใช่ฉันเลย มันทัชใจเรามากกว่า อย่างนี้ คือ เป็นสิ่งที่เราคิดว่า คอนซูเมอร์เขามองหาตรงนี้”

ส่อง How to และบทบาทของ Fandom Marketing

เมื่อพูดถึงแนวโน้มและการใช้งานของโซเชียลมีเดียไปแล้ว การใช้อินฟลูเอนเซอร์และแฟนด้อมซึ่งเป็นผลพวงที่เกิดขึ้นตามมาจากกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ อีกทั้งยังกลายเป็นอาณาจักรและกลยุทธ์ที่สามารถดึงผู้บริโภคที่คลั่งไคล้ในสินค้าหรืออินฟลูเอนเซอร์เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมและแคมเปญต่าง ๆ ได้อย่างทรงพลังนั้น แล้วทาง ABM Connect มีกลยุทธ์ในการเลือกและนำกลยุทธ์ Fandom Marketing มาประยุกต์ใช้อย่างไร

สำหรับวิธีการเลือกอินฟลูเอนเซอร์ให้กับแบรนด์หรือแคมเปญต่าง ๆ นั้น คุณเสรี มองว่า การทำความเข้าใจโจทย์หรือความต้องการของลูกค้าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเราต้องดูว่า ลูกค้าต้องการสร้างการรับรู้หรือการสร้างเอนเกจเมนท์

หลัก ๆ เอง เราต้องเข้าใจโจทย์ก่อนว่าลูกค้าต้องการอะไรนะครับ คุณจะสร้างการรับรู้ (Awareness) หรือคุณต้องการเอนเกจเมนท์ (Engagement) เพราะวันนี้เรารู้ว่า ถ้าเกิดเราไปอินฟลูเอนเซอร์เบอร์ใหญ่ ๆ เราจะเน้น้่ Awareness เป็นหลัก ถามว่าจะให้มีแอ็คชั่นหรือเอนเกจเมนท์ ก็ต้องไปดูเรื่องของยอดขาย แต่จากเทรนด์ที่เราเห็นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเอนเกจกับอินฟลูเอนเซอร์กลุ่ม nano, micro มีมากขึ้น

คุณเสรี เปิดเผยว่า อินฟลูเอนเซอร์ได้แตกแยกย่อยออกไปหลากหลายกลุ่ม ดังนั้น หลังจากที่เราได้ทำความเข้าใจกับความต้องการและโจทย์ของลูกค้าแล้ว หากลูกค้าต้องการในเรื่องของเอนเกจเมนท์ เอเจนซี่ก็ต้องดูเรื่องของจำนวนผู้ติดตามหรือ Follower และแฟนด้อมของอินฟลูเอนเซอร์นั้น ๆ รวมทั้งความเหมาะสมกับแคมเปญของลูกค้า

ต้องดูหลายแง่มุมในหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องของเอนเกจเมนท์ เพราะบางคนอาจจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีฟอลโลเวอร์เยอะ แต่อาจจะไม่มีเอนเกจเมนท์ ใช่มั้ยครับ ก็ถือว่าไม่ได้ ฉะนั้นก็ต้องดูเรื่องของฟอลโลเวอร์ของเขา ว่าแต่ละคนมีอิมแพคขนาดไหนนะครับ มีคอมมูนิตี้ที่เข้มแข็งขนาดไหน แล้วค่อยมาดูว่างบประมาณที่มีแมชกับสิ่งที่ต้องการหรือไม่

“เอเจนซี่เอง เราต้องใช้เครื่องมือในการกวาดว่า อินฟลูเอนเซอร์ตอนนี้ ใครท็อป อะไรยังไง อะไรที่ตรงกับแคมเปญของเรามากที่สุด แต่เท่านั้นยังไม่พอ เรายังต้องมากรองดูอีกว่า  Criteria ของเราเป็นยังไง เป้าหมายของแคมเปญเราต้องการอะไร คนนี้ตอบโจทย์รึเปล่าในเรื่องของเป้าหมายหรือคอนเทนต์เขาเป็นแบบไหน มู้ดแอนด์โทนเป็นยังไง เหมาะกับแบรนด์เรามั้ย มันลงไปดีเทลเยอะมาก มีทั้ง Objective แล้วก็ Subjective โดย Tool ช่วยเราได้ ตั้งต้นด้วยการฟิลเตอร์ เสร็จแล้วเราก็ต้องมาดูอีกทีเรื่อง Criteria …

ในการวางกลยุทธ์นะครับ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการใช้เมนสตรีม ออนไลน์พับลิชเชอร์ หรืออินฟลูเอนเซอร์เอง ทุกอย่างมันต้องมาให้น้ำหนักผสมผสานให้เหมาะสมกับเป้าหมายของแคมเปญ

แล้วจะหยอดเงินที่มีอยู่มากน้อยลงตรงไหนบ้าง ทุกอย่างมันต้องมาบาลานซ์กันหมด ถ้าเกิดมีงบน้อย การ Weight มันก็จะยาก เราก็อาจต้องตัดใจลดบางอย่างลง ก็ต้องเลือกที่ดีที่สุด” คุณเสรีกล่าว

กรรมการบริหารของ ABM Connect กล่าวต่อไปว่า การที่เราจะเลือกใช้งบประมาณ เราไม่จำเป็นต้องใช้เบอร์หนึ่งตลอดเวลา เพราะไม่ได้ต้องการสร้างการรับรู้วงกว้างขนาดนั้น การเลือกเบอร์หนึ่งตลอดเวลาของ PR agency อาจจะไม่ใช่ เราต้องดูเรื่องการใช้งบประมาณ งบประมาณที่จำกัด หาคนที่มีอิมแพค แล้วดูว่า จะไม่มีดราม่าเกิดขึ้นตามมา แต่สามารถสร้างอิมแพคแล้วก็เป็น Positivity ไปข้างหน้าได้ ดังนั้นวิธีการไป จะต้องเข้าใจในทุกแง่มุมแล้วต้องเล็งถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย เราต้องดูเรื่องของผลกระทบให้น้อยที่สุด รวมทั้งเรื่องของดราม่าที่อาจจะเกิดขึ้นกับสาธารณะ

และแน่นอนว่า สิ่งที่ต่อยอดมาจากอินฟลูเอนเซอร์ คือ แฟนด้อม โดยกลยุทธ์ในการทำการตลาดและสื่อสารผ่านแฟนด้อมที่ช่วยกระพือกระแสการพูดแบบปากต่อปาก หรือ Word of Mouth มีผลต่อการตัดสินใจสำหรับผู้บริโภคที่ไม่ได้เข้าข่ายแฟนด้อมด้วยเช่นกัน เช่น เวลาที่เราจะซื้อสินค้าอะไรบางอย่าง เราก็จะหาข้อมูลหรืออ่านรีวิวว่า สินค้าหรือร้านค้าที่เราจะซื้อนั้นมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หากโพสต์หรือคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้ามีเอนเกจเมนท์สูง หรือมีคอมเมนต์จำนวนมาก และคอมเมนต์เหล่านี้เป็นบวก ก็มีผลต่อการตัดสินใจเช่นกัน

แฟนด้อมมาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิตี้มาร์เกตติ้ง อินฟลูเอนเซอร์ ถามว่า อิมแพคฟูล (Impactful) มั้ย คำตอบคืออิมแพคฟูลมากกับแบรนด์ที่เห็นความสำคัญกับตรงนี้ เพราะว่าแฟนด้อมคือผู้ที่คอยซัพพอร์ตและปกป้องคนที่เขาชื่นชอบทุกรูปแบบด้วยใจรัก

เขาจะทำคอนเทนต์ที่สนับสนุนและแชร์ต่อ แม้เราไม่ได้เป็นแฟนด้อม แต่ก่อนซื้อของ เราก็หาข้อมูลว่า ฉันจะซื้อของแบบนี้มัน Reliable มั้ย จะต้องไปดูเอนเกจเมนท์ ไปดูเรื่องของดาวในมาร์เก็ตเพลส คนนี้มีคอมเมนท์เท่าไหร่ ก็เหมือนกันกับการมีแฟนด้อมว่า การที่จะซื้อของเนี่ยมีคน Referral มีคนแนะนำ มีคนอ้างอิงมากน้อยขนาดไหน แล้วมันเป็นโพสิทีฟขนาดไหน ผมว่า คอนซูเมอร์วันนี้ฉลาดในการเสพ ฉลาดในการเลือก” คุณเสรีกล่าว

ข้อควรระวังในการเลือกอินฟลูเอนเซอร์และแฟนด้อมมาร์เก็ตติ้ง

อย่างไรก็ดี การเลือกอินฟลูเอนเซอร์และใช้แฟนด้อมมาร์เก็ตติ้งก็มีข้อควรระวังด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดหรือวิกฤตของแบรนด์เกิดขึ้นตามมา ซึ่งในประเด็นนี้ หากบริษัทหรือแบรนด์มีพื้นฐานด้านการบริหารจัดการประชาสัมพันธ์มาดีก็พอที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากข้อผิดพลาดได้ แต่หากไม่มีแล้ว ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจจะนำไปสู่วิกฤตที่ต้องใช้หลักการบริหารจัดการวิกฤต เพื่อแก้ปัญหา

โดยคุณเสรีได้ยกตัวอย่างกรณีการสื่อสารข้อมูลที่ผิดพลาดของอินฟลูเอนเซอร์บางรายที่เคยเกิดขึ้นว่า ถึงแม้อินฟลูเอนเซอร์ที่มีความแข็งแกร่ง แต่ให้ข้อมูลที่ผิดพลาดจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดตามมานั้น จะส่งผลกระทบถึงชื่อเสียงของแบรนด์ได้ ดังนั้น การเลือกอินฟลูเอนเซอร์ นอกจากจะดูเรื่องเอนเกจเมนท์และยอดฟอลโลเวอร์แล้ว การคำนึงถึงเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

อิมแพคของการมีอินฟลูเอนเซอร์ที่แข็งแกร่ง แต่อาจจะพลาดในการรับรู้หรือเรียนรู้ข้อมูลให้ลึกซึ้ง ซึ่งจะนำพาไปสู่ดราม่าได้ ตรงนี้ เราเห็นว่าอิมแพคของอินฟลูเอนเซอร์สามารถเป็นได้ทั้งเนกาทีฟ (Negative) และโพสิทีฟ (Positive)

ในประเด็นเนกาทีฟ ถ้าเกิดแบรนด์ไม่มีความโปร่งใสตั้งแต่ต้น มันก็สามารถที่จะพาไปสู่ Reputation Crisis ได้ ทำให้แบรนด์จะต้องบริการจัดการ Reputation Management ให้ทันท่วงทีและเหมาะสม ถ้าเราพูดในแง่โพสิทีฟ แฟนด้อมมาร์เก็ตติ้งเอง อินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งมีความสำคัญมาก มีอิมแพคมาก เมื่อเข้าใจวิธีการใช้ และใช้ให้ถูกวิธี จะนำมาถึง Positivity ของแบรนด์

ปี 67 เอเจนซีโฆษณาและพีอาร์ใช้เอไอเป็นตัวช่วยในการทำงานมากขึ้น

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือเอไอ (AI) ได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมากขึ้น หลังจากที่บริษัทผู้พัฒนาเอไอในต่างประเทศได้พัฒนาประสิทธิภาพของเอไอไม่ว่าจะเป็นเจเนอเรทีฟ เอไอ (Generative AI) ที่นำมาใช้งานได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ในฐานะที่ ABM Connect เป็นเอเจนซ่ชั้นนำ ทางบริษัทได้ใช้งานเอไออย่างไรบ้างนั้น

คุณเสรี เปิดเผยว่า เอไอและเทคโนโลยีต่าง ๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และในปี 2567 จะมีการประยุกต์ใช้เอไอมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคอนเทนต์หรือรูปภาพ โดยเฉพาะในเรื่องภาพหรือกราฟิกที่สามารถแบ่งเบางบประมาณสำหรับลูกค้าที่งบประมาณไม่เอื้ออำนวย หรือแม้แต่การต่อยอดในการทำโปรดักชั่น

ปีหน้าผมว่า จะมีการประยุกต์ใช้ (Adaptation) อยู่ค่อนข้างสูง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นงานโฆษณาหรือพีอาร์ ผมว่าตัวบริษัทเองคงได้ใช้เอไอกันมากขึ้น อย่างเรื่องของการจ้างนายแบบนางแบบ หรือเรื่องอื่น ๆ พอเป็นการใช้ Generative AI การใช้อิมเมจที่อาจจะไม่ได้ถึงขั้นต้องการทำแบบหนังโฆษณา เป็นต้น แต่หนังโฆษณาเองก็เห็นเทรนด์อยู่แล้วนะ เราก็เห็นหนังโฆษณาหลาย ๆ แบรนด์ที่เอาเอไอมาช่วย ผมว่าเราก็น่าจะเห็นเรื่องของสื่อเอไออีกเยอะในปีหน้า

คุณเสรี ศิรินพวงศากร กรรมการบริหารบริษัท เอบีเอ็ม คอนเนค จำกัด (ABM Connect)

ที่ผ่านมา ทาง ABM Connect ก็ได้ทดลองใช้เอไอหลายประเภทมาโดยตลอด แต่ท้ายที่สุด ผลงานขั้นสุดท้ายที่จะออกมาก็ต้องใช้ฝีมือของมนุษย์ ด้วยเหตุผลที่ว่า การเข้าถึงและเชื่อมโยงผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพนั้น ยังต้องใช้ภาษาที่มนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์

“เราก็ลองผิดลองถูกมาเยอะเหมือนกัน คือ สุดท้ายแล้วเราเลี่ยงพวกเทคโนโลยีพวกนี้ไม่ได้ แต่ถามว่ามันมาแทนที่งานของคนรึเปล่า มันคงไม่ใช่ แต่จะเป็นเพื่อนร่วมงานที่คอยซัพพอร์ตงานของเราให้ง่ายขึ้นมากกว่า การมีเอไอเข้ามาช่วย ในเรื่องของการทำเฟิร์สดราฟท์ ได้พอสมคร แต่ยังเป็นหน้าที่ของคนในการจบงาน คราฟท์ (Craft) ให้มันเป็นภาษาที่เรารู้สึกว่าคอนเนคกับผู้บริโภคอย่างที่บอกไปได้ดีกว่า” คุณเสรี กล่าว

เมื่อโลกเดือด! ผู้บริโภคจับตาผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมจากแนวคิด ESG

นอกจากเอไอแล้ว กระแสที่สำคัญและไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่คุณเสรีมองว่า ผู้บริโภคและบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเป็นลูกค้าให้ความสำคัญไม่น้อย คือ ESG แนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, Governance) หลังจากที่บริษัทต่าง ๆ ได้นำเสนอเรื่องราวของเป้าหมาย ESG ไปแล้ว ผู้บริโภคและสังคมเองก็คาดหวังและจับตาว่า องค์กรหรือบริษัทที่ได้ป่าวประกาศถึงนโยบายในด้าน ESG ไป ได้ทำอะไรที่เป็นรูปธรรมออกมาแล้วบ้าง

“อีกสิ่งหนึ่งที่เราเห็นก็คือเรื่องของ ESG ในมิติของการลงมือทำหรือ Actionable ของบริษัทต่าง ๆ เลยว่าสิ่งที่องค์กรได้แถลงแนวคิด ESG ไปแล้ว จะเดินหน้าไปยังไง ผมว่าตอนนี้ผู้บริโภคมองว่า Actionable ที่คุณวางแผนไว้ ออกมาเป็นรูปธรรมได้มากน้อยขนาดไหน ไม่ใช่แค่พูดแล้ว ต้องแอคชั่นจริง

…ลูกค้าหลายรายของเราก็เริ่มมี Actionable Activities ให้เห็นว่าสิ่งที่เคยพูดเรื่อง ESG ได้ลงมือทำแล้ว สะท้อนเป็นรูปธรรมให้เห็นการยกระดับจาก ความตั้งใจที่ดี (Good Intention) ไปเป็นการ็สร้างคุณค่าต่อสังคม (Value Creation) ้ผมว่าเป็นสิ่งที่บริษัทหลาย ๆ บริษัทเองจะต้องโชว์ตรงนั้น ไม่ใช่ออกมาแค่พูดคอนเซปต์” คุณเสรี กล่าว

Topics