ภูมิทัศน์สื่อไทย 2566-2567

สื่อทีวีดิจิทัล 2566-2567: ไม่ตาย ไม่โต แตกไลน์กระจายความเสี่ยง

แม้ว่า ทีวีดิจิทัลจะถูกดิสรัปต์จากโซเชียลมีเดียและสตรีมมิ่งจนทำให้ผู้บริโภคดูทีวีทางหน้าจอโทรทัศน์กันน้อยลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคนเลิกดูทีวี เพียงแต่หันไปดูรายการทีวีทางสื่อออนไลน์แทน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของนีลเส็นในเดือนตุลาคม 2566 ที่ระบุว่า เรตติ้งจากการดูรายการทีวีผ่านเครื่องเล่นทีวียังคงสูงสุดอยู่ที่ 7.327% ขณะที่เรตติ้งการดูทีวีผ่านสื่อดิจิทัลอย่างยูทูบอยู่ที่ 1.638% ดังนั้น ทีวีดิจิทัลยังคง “ไม่ตาย”

แต่ถึงทีวีจะยังคงอยู่ อุตสาหกรรมทีวีก็มีแนวโน้มว่า จะ “ไม่โต” เท่าสมัยก่อนแล้ว ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เม็ดเงินโฆษณาของสื่อทีวีมีแต่จะลดลงกับทรงตัว ในทำนองเดียวกัน ข้อมูลของนีลเส็นในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 แสดงให้เห็นว่า แม้ทีวีจะเป็นสื่อที่มีสัดส่วนการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุด คิดเป็นมูลค่า 50,415 ล้านบาท แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง -4%


ดังนั้น ผู้เล่นในวงการทีวีไทยในปัจจุบันจึงจำเป็นต้อง “แตกไลน์” ไปทำธุรกิจอื่น เพื่อกระจายความเสี่ยงให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพยนตร์ ผลิตคอนเทนต์แบบซีรีส์ลงแพลตฟอร์ม OTT หรือแม้กระทั่งผลิตเครื่องดื่มที่อิงจากซีรีส์ซิตคอมออกวางจำหน่าย

ไม่ตาย – คนรุ่นใหม่ไม่ดูทีวี แต่ยังดูรายการทีวีทางสื่อใหม่

ทีวีไทยได้รับผลกระทบจากดิจิทัลดิสรัปชันอย่างต่อเนื่อง โดยเว็บไซต์ส่องสื่อ (songsue.co) ได้จัดทำแบบสอบถามนักศึกษาจากกว่า 18 มหาวิทยาลัย จำนวน 100 คนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 14-24 มีนาคม 2566 และผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า …

ช่องทางสื่อที่คนรุ่นใหม่เสพมากที่สุดคือ สื่อออนไลน์ 91.1% ขณะที่ทีวีได้เป็นอันดับสองเพียง 32.7% เท่านั้น

Photo credit: Unlocking Insights with Cross-Media Measurement Report, Nielsen

ผลสำรวจดังกล่าวสอดคล้องกับรายงาน “Unlocking Insights with Cross-Media Measurement” ของนีลเส็นซึ่งระบุว่า

คนไทยเสพสื่ออินเทอร์เน็ต 89% และทีวี 85% ขณะที่หากแบ่งตามเจเนอเรชันแล้วพบว่า ผู้ใช้สื่อเกือบทุกรุ่นล้วนใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากกว่าดูทีวี มีแค่รุ่นเบบี้บูมเมอร์เท่านั้นที่ดูทีวีมากกว่า

และหากพูดถึงสื่ออินเทอร์เน็ตแล้ว แพลตฟอร์มที่มีแนวโน้มว่า จะแย่งคนดูทีวีมากที่สุดก็คือยูทูบ (YouTube)

โดยยูทูบ ประเทศไทย เปิดเผยผลสำรวจของคันทาร์ (Kantar) เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ว่า คนไทยในช่วงอายุ 18-24 ปี, 25-29 ปี, 30-39 ปี และ 40 ปีขึ้นไป ดูคลิปบนยูทูบมากกว่าช่องทางโซเชียลมีเดียอื่น ๆ และมากกว่าทีวี นอกจากนี้ คนไทย 2 ใน 3 มองว่ายูทูบเข้ามาแทนที่ทีวีแล้ว ไม่ว่าจะดูผ่านทางอุปกรณ์ใดก็ตาม

ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าเกือบทุกคนจะเลิกดูรายการทีวีไปเลย เพียงแต่ผู้ชมหันไปดูรายการทีวีทางสื่อออนไลน์แทน สอดคล้องกับรายงานข้อมูลการวัดเรตติ้งรายการทีวีข้ามแพลตฟอร์ม (Cross-Platform Ratings) โดยนีลเส็น เช่น ข้อมูลเดือนตุลาคม 2566 ที่พบว่า 

เมื่อวัดจากผู้ชมคนไทยทั้งประเทศที่มีอายุ 4 ปีขึ้นไป (61.5 ล้านคน) เรตติ้งจากการดูรายการทีวีผ่านเครื่องเล่นทีวียังคงสูงสุดอยู่ที่ 7.327% ขณะที่เรตติ้งการดูผ่านยูทูบอยู่ที่ 1.638% สูงเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาแพลตฟอร์มดิจิทัล

สำรวจความนิยมช่องทีวีดิจิทัลไทยผ่านแพลตฟอร์มโซเชียล

ไม่เพียงแต่คนยังดูรายการทีวีผ่านทางสื่อใหม่เท่านั้น ช่องทีวีต่าง ๆ ยังหันมาสร้างและเผยแพร่คอนเทนต์ผ่านทางโซเชียลมีเดีย จนได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะทางยูทูบที่ทีวีช่องต่าง ๆ มียอดสมาชิก (Subscriber) สูงเป็นอันดับต้น ๆ ส่วนเฟซบุ๊ก, ติ๊กต๊อก และเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) ก็เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมด้วยเช่นกัน

สำรวจความนิยมช่องทีวีดิจิทัลไทยทางยูทูบ, เฟซบุ๊ก และติ๊กต๊อก ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2566

จากตารางด้านบนจะพบว่า

  • ช่องที่มียอดผู้ติดตามทางยูทูบสูงสุด: ช่องเวิร์คพอยท์ (39.8 ล้านคน)

  • ช่องที่มียอดไลก์ทางเฟซบุ๊กสูงสุด: ช่องเวิร์คพอยท์ (14 ล้านไลก์)

  • ช่องที่มียอดผู้ติดตามทางเฟซบุ๊กสูงสุด: ช่องเวิร์คพอยท์ (24 ล้านคน)

  • ช่องที่มียอดไลก์ทางติ๊กต๊อกสูงสุด: อมรินทร์ทีวี (184.4 ล้านไลก์)

  • ช่องที่มียอดผู้ติดตามทางติ๊กต๊อกสูงสุด: ช่องเวิร์คพอยท์ (5.5 ล้านคน)

  • ช่องที่มียอดผู้ติดตามทางเอ็กซ์สูงสุด: ไทยพีบีเอส (3.1 ล้านคน)

แม้ว่าอุตสาหกรรมทีวีจะยังไม่ตายก็ใช่ว่าปี 2566 จะไม่มีใครบาดเจ็บ โดยเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2566 บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) เจ้าของช่อง JKN18 ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และเสนอตัวเองผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง หลังจากประสบปัญหาสภาพคล่องมาอย่างต่อเนื่องจนผิดนัดชำระหุ้นกู้ ด้วยสาเหตุว่าเกิด “Liquidity Mismatch” ตามคำกล่าวของนายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ JKN ด้านศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทแล้ว และกำหนดวันไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 29 มกราคม 2567

ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก JKN18 - facebook.com/photo.php?fbid=735196161982720

ด้านท็อปนิวส์ รายการข่าวทางออนไลน์ที่เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมผลิตรายการข่าวเพื่อออกอากาศทางช่อง JKN18 ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2566 นั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถานีข่าวท็อปนิวส์ ได้โพสต์ภาพลงเฟซบุ๊กส่วนตัวแจ้งเรื่องขอลาออกจากกรรมการบริษัทและทุกตำแหน่งที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป และพร้อมขายหุ้นหากมีคณะกรรมการท่านใดพร้อมจะซื้อ โดยประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 เพียง 4 วันหลังจากที่ JKN ขอยื่นฟื้นฟูกิจการ

ไม่โต – เม็ดเงินโฆษณามีแต่ลดลงกับทรงตัว

อย่างไรก็ดี แม้ทีวีดิจิทัลจะ “ไม่ตาย” จากการถูกดิสรัปต์ แต่ก็ “ไม่โต” ไปกว่านี้ ความนิยมที่ลดลงของทีวีสะท้อนออกมาในรูปของเม็ดเงินโฆษณา ตามข้อมูลของนีลเส็นในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 แม้ทีวีจะเป็นสื่อที่มีสัดส่วนของการใช้เม็ดเงินโฆษณาสูงสุด คิดเป็นมูลค่า 50,415 ล้านบาท แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ถึง -4%

Photo Credit: ข่าว “ทีวีดิจิทัล’เร่งเครื่องพลิกธุรกิจ พ้นขาดทุนโค้งสุดท้ายไลเซ่นส์” จากกรุงเทพธุรกิจ - https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1100212

เอ็มไอ กรุ๊ป (Mi Group) ประเมินว่า เงินโฆษณาโดยรวมของปี 2566 จะโตเพียง +2.5% ส่วนของสื่อทีวีจะลดลงเล็กน้อยที่ -1% เมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องด้วยปัญหาทางเศรษฐกิจของไทยที่ GDP โตต่ำกว่าคาด ส่วนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นต้น ก็ยังไม่เกิดขึ้นในปี 2566

ขณะเดียวกัน นางสาวปัทมวรรณ สถาพร นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (MAAT) ได้ให้ความเห็นไว้ในงาน “The Future of Media 2024” ของนีลเส็น ประเทศไทย ว่า เม็ดเงินในอุตสาหกรรมสื่อโดยรวมของปี 2566 จะโตไม่เกิน 4% ซึ่งเป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด (Worst case scenario) ที่ MAAT ประเมินไว้เมื่อตอนต้นปี

ส่วนปี 2567 คาดว่าจะโตดีกว่าปี 2566 เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ไม่ถึงกับโตระดับเลข 2 หลัก เนื่องจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ อาทิ สงครามอิสราเอล-ฮามาส, ผลพวงจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ, ทิศทางของประเทศจีน, ภาวะหนี้ครัวเรือนของคนไทยในระดับสูง และการมาของ AI ที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมการเสพสื่อ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงโฆษณา

ภาพความไม่โตจะยิ่งเห็นได้ชัดเมื่อดูข้อมูลค่าใช้จ่ายโฆษณาสำหรับสื่อทีวีดิจิทัลในรอบ 10 ปีให้หลัง ปี 2556-2565องเอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (AGB Nielsen Media Research) โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาที่เริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ 

กราฟดังกล่าวสะท้อนออกมาผ่านคำกล่าวของนายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล แห่งประเทศไทย ว่า …

ตลอดช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเผชิญปัจจัยภายนอกด้านลบมาหลายต่อหลายครั้ง ทั้งเหตุการณ์ชัตดาวน์ประเทศจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในปี 2557 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซ้ำเติมด้วยโควิด-19 และค่าพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน เหล่านี้ล้วนทำให้ธุรกิจต่าง ๆ หันมาลดรายจ่ายโดยเฉพาะงบโฆษณา ซึ่งส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาทีวีลดลงต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เมื่อเจาะลึกลงไปเป็นรายช่องทั้ง 20 ช่อง (ไม่นับไทยพีบีเอส) ข้อมูลจากนีลเส็นตั้งแต่เดือนมกราคม-ตุลาคม 2566 ระบุว่า มูลค่าโฆษณาไปลงที่ช่อง 3 มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยช่อง โมโน 29 เป็นที่สอง และช่องวัน 31 เป็นที่สามตามลำดับ

เม็ดเงินโฆษณาที่ค่อย ๆ ลดลงนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล เนื่องจากหากมองแง่หนึ่งแล้ว ทีวีดิจิทัลก็คือธุรกิจคอนเทนต์แบบ Ad-Support คือฉายให้คนดูฟรีโดยอาศัยรายได้หลักจากค่าโฆษณา ซึ่งต่างจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่มีโมเดลธุรกิจทั้งแบบ Ad-Support และแบบ Subscription (เสียเงินค่าสมัครสมาชิก)

อย่างไรก็ดี นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เปิดเผยมุมมองที่แตกต่างออกไปในงาน “ADMAN AWARDS & SYMPOSIUM 2023” ว่า …

มูลค่าสื่อโฆษณาทีวีในอนาคตมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตรายการจะป้อนคอนเทนต์ลงทางทีวีเป็นจอแรกและทางแพลตฟอร์มโอทีทีของต่างประเทศเป็นจอที่สอง ทำให้คอนเทนต์มีมาตรฐานสูงขึ้น ส่วนผู้ประกอบการทีวีก็จะมีรายได้หลายทางด้วย

แตกไลน์ – ทำธุรกิจหลากหลาย สร้างรายได้ กระจายความเสี่ยง

เมื่อเม็ดเงินโฆษณาทางทีวีที่เป็นรายได้หลักมีแนวโน้มลดลงในระยะยาว สิ่งที่ผู้เล่นหลายรายในวงการทีวีตัดสินใจทำก็คือการทำธุรกิจประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ทีวีดิจิทัล เพื่อสร้างรายได้และกระจายความเสี่ยงของบริษัทโดยหารายได้ผ่านช่องทางใหม่ ๆ

ตัวอย่างเช่น บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ของช่อง 3 จัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ละครของตนไปฉายลงในแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยออกอากาศคู่ขนานไปพร้อมทางทีวี (Simulcast) ตามตัวอย่างด้านล่างนี้

  • หมอหลวง (Royal Doctor) ผ่านแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์, วิว (VIU)
  • มาตาลดา (To the moon and back) ผ่านแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์
  • แค้น (Nobody’s happy if I‘m not) ผ่านแพลตฟอร์มวิว
  • พรหมลิขิต (Love Destiny 2) ผ่านแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์
Photo Credit: mewatch.sg/series/dramas/thai

นอกจากนี้ ช่อง 3 ยังจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ละครไปยังต่างประเทศ เช่น จับมือกับทาง Mediacorp สื่อโทรทัศน์ระดับประเทศและผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ เพื่อนำคอนเทนต์ละครเรตติ้งสูงไปฉายผ่านบริการดิจิทัลวิดีโอ mewatch ทั้งนี้ละครบางเรื่องเช่น “พรหมลิขิต” และ “บุพเพสันนิวาส” ได้ออกอากาศทางโทรทัศน์ภาคพื้นดิน Channel U ของสิงคโปร์อีกด้วย

อีกหนึ่งกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดในปี 2566 คือ การทำภาพยนตร์

โดยเฉพาะกรณีของช่อง 3 ที่จับมือกับเอ็ม สตูดิโอ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เพื่อร่วมกันออกภาพยนตร์เรื่อง “ธี่หยด” ตรงจุดนี้เองที่ช่อง 3 ใช้จุดแข็งของช่องโดยนำนักแสดงละครในสังกัดมาเล่นหนังเรื่องนี้กันอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็น ณเดชน์ คูกิมิยะ, เดนิส เจลีลชา คัปปุน และรัตนวดี วงศ์ทอง เป็นต้น ตัวภาพยนตร์ประสบความสำเร็จอย่างงดงามโดยทำรายได้วันเปิดตัวสูงสุด (26 ต.ค.) เป็นอันดับ 1 ของปี 2566 ที่ 39 ล้านบาท และทำเงินทะลุร้อยล้านได้เร็วที่สุดของปีโดยใช้เวลาเพียง 3 วัน และล่าสุด (26 พ.ย.) “ธี่หยด” ทำรายได้ไปแล้วถึง 439 ล้านบาท ขึ้นแท่นภาพยนตร์ไทยที่มีรายได้สูงสุดเป็นอันดับที่ 4 ในประวัติศาสตร์

Photo Credit: เพจเฟซบุ๊ก Ch3Thailand

สำหรับการต่อยอดจากธุรกิจทีวีที่แตกต่างออกไปจากธุรกิจสื่อเลยก็คือ บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของช่องวัน 31 ที่อาศัยจุดแข็งของความเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ปั้นสินค้าที่อิงกับคอนเทนต์นั้น ๆ (content asset) โดยนำซิตคอมยอดฮิตในเครืออย่างเรื่อง “เป็นต่อ” มาแตกไลน์ธุรกิจเครื่องดื่มฟังก์ชันนัลดริงก์ เกิดเป็น “เป็นต่อ ดริ๊งค์” ที่ได้เปิดตัวไปในปี 2566

คุณถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงที่มาของ “เป็นต่อ ดริ๊งค์” ว่า เกิดจากบริษัท แมสคอท โปรดักชั่น จำกัด กับบริษัท เอ็นเอสแอล ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) สนใจนำซิตคอม “เป็นต่อ” ไปต่อยอดเป็นสินค้า เนื่องจาก “เป็นต่อ” เป็นซิตคอมยอดฮิตที่อยู่คู่จอทีวีมาเป็นเวลานาน มีฐานแฟนคลับเหนียวแน่นทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ทางเดอะ วัน จึงได้จัดตั้งบริษัท วันสนุก จำกัด เพื่อร่วมลงทุนกับอีก 2 บริษัทดังกล่าว เกิดเป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ในชื่อ บริษัท เป็น 1 เอฟแอนด์บี จำกัด เพื่อออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม “เป็นต่อ ดริ๊งค์” (อ่านบทสัมภาษณ์เพิ่มเติม)

คนดูทีวีดูอะไร?

หากดูจากข้อมูลเดือนตุลาคม 2566 พบว่า ช่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเดือนตุลาคม 2566 คือ ช่อง 3 โดยได้เรตติ้งไปที่ 1.206 ตามมาด้วยช่อง 7 ที่ 1.018 และช่องวัน 31 ที่ 0.769

Photo Credit: สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) - adteb.or.th/monthly

สำหรับรายการทีวียอดนิยมในปี 2566 นั้น ข้อมูลการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มโดยนีลเส็นพบว่า รายการที่มีเรตติ้งมากที่สุดในแต่ละเดือนคือคอนเทนต์ประเภทกีฬาและละคร

โดยรายการกีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ “(Live) ถ่ายทอดสด การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงโอลิมปิก 2024 รอบคัดเลือก (ไทย+โคลอมเบีย)” ของเดือนกันยายน ทำเรตติ้งได้ที่ 9.518

ส่วนละครที่ได้เรตติ้งสูงสุดแห่งปีคือ “พรหมลิขิต” ของช่อง 3 ในเดือนพฤศจิกายน ที่ระดับ 7.462

รายการทีวีที่ได้รับเรตติ้งสูงสุดในแต่ละเดือนทั่วประเทศไทย ผู้ชมอายุ 4 ปี ขึ้นไป เดือน มกราคม-ตุลาคม 2566

รายการข่าวทีวี - สด เร็ว น่าเชื่อถือ

หากจุดอ่อนของสื่อทีวีคือไม่สามารถเลือกดูคอนเทนต์ในเวลาใดก็ได้ ดูย้อนหลังก็ไม่ได้ หรือเนื้อหาไม่ได้ตรงใจเท่าสื่อออนไลน์

จุดแข็งอย่างหนึ่งของทีวีดิจิทัลก็คือ รายการข่าว เพราะข่าวจะมีคุณค่าสูงสุดก็ต่อเมื่อรับชมแบบสด ๆ โดยถึงแม้ข่าวทีวีอาจจะไม่ได้มา “ทันที” แบบโซเชียลมีเดีย แต่โดยรวมก็ยังถือว่าเร็ว และที่สำคัญคือมีความน่าเชื่อถือสูงกว่าโซเชียลมีเดีย เนื่องจากมีการกรองและตรวจสอบเนื้อหามาในระดับหนึ่งแล้ว

ในแง่ความน่าเชื่อถือ สถาบันรอยเตอร์เพื่อการศึกษาด้านวารสารศาสตร์ (Reuters Institute for the Study of Journalism) เปิดเผยรายงาน “Digital News Report” ประจำปี 2566 ในวันอังคารที่ 13 มิถุนายน 2566 ได้จัดสถิติความน่าเชื่อถือของสื่อไทยตามตารางด้านล่างนี้ โดย 3 อันดับแรกที่คนลงความเห็นว่าน่าเชื่อถือมากที่สุดล้วนแต่เป็นสื่อทีวีทั้งสิ้น

หากดูในแง่ยอด Reach รายสัปดาห์ของรายการข่าวทางสื่อออฟไลน์ที่นับรวมทั้งทีวี วิทยุ และสื่อสิ่งพิมพ์ จะสังเกตได้ว่า 4 อันดับแรกล้วนเป็นสื่อทีวี โดยช่องที่ได้ยอด Reach สูงสุดคือช่อง 3

อ้างอิงที่มา
  • (2566). ‘ทีวีดิจิทัล’เร่งเครื่องพลิกธุรกิจ พ้นขาดทุนโค้งสุดท้ายไลเซ่นส์. [ออนไลน์] จาก https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1100212.
  • (2566). ปลดล็อกอินไซต์คนไทยเสพสื่อ ‘นีลเส็น’ ปลุกแบรนด์อย่าหยุดใช้งบโฆษณา. [ออนไลน์] จาก https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1077557.
  • (2566). สินค้าชะลอใช้งบ ฉุดสื่อโฆษณา ‘รถยนต์อีวีจีน’ ความหวังปลุกเม็ดเงินสะพัด. [ออนไลน์] จาก https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1099077.
  • Kheokao, J. and Kheokao, D. (2023). Digital News Report 2023 – Thailand. [online] Reuters Institute for the Study of Journalism. Available at: https://reutersinstitute.politics.ox.ac.uk/digital-news-report/2023/thailand.
  • THAILAND BOXOFFICE TEAM, (2566). อันดับหนังทำเงินทั่วประเทศไทย ประจำสัปดาห์ (วันที่ 26/11/2566) – Thailand Box Office And Entertainment. [ออนไลน์] จาก https://thailandboxoffice.com/2023/11/28/26-11-66/.
  • THE STANDARD WEALTH. (2566). คาดเม็ดเงินโฆษณาโต 5% คิดเป็นตัวเลข 83,031 ล้านบาท แม้ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จแต่คงกระตุ้นได้ไม่มาก. [ออนไลน์] จาก https://thestandard.co/commercial-grew-2-5-percents/.
  • THE STANDARD. (2566). สนธิญาณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TOP NEWS ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่ง. [ออนไลน์] จาก https://thestandard.co/sontiyan-quits-top-news/.‌
  • กฤตนัน ดิษฐบรรจง (2566). 7 แบรนด์สื่อที่คนรุ่นใหม่เสพกันมากที่สุด พบช่องวัน – ช่อง 3 นำเป็นสองอันดับแรก![ออนไลน์] ส่องสื่อ. จาก https://www.songsue.co/18373/.
  • กสทช. (2565). เปิดผลกระทบ Digital Disruption ต่อเม็ดเงินโฆษณาสื่อดั้งเดิมในรอบ 13 ปี. [ออนไลน์] จาก https://broadcast.nbtc.go.th/data/academic/file/650600000002.pdf.
  • กสทช. (2566). มูลค่าการโฆษณา กิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล แยกตามช่องรายการ. [ออนไลน์] จาก https://broadcaststat.nbtc.go.th/analytics/saw.dll?Dashboard.
  • ซีเนริโอ. (2566). เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ONEE) สยายปีก เปิดโมเดลธุรกิจ จากความเข้มเเข็งของความเป็น content creator ปั้น content asset เเตกไลน์ FMCG ลงตลาดเครื่องดื่ม. [ออนไลน์] ThaiPR.NET. จาก https://www.thaipr.net/business/3358483.‌
  • ฐานเศรษฐกิจ (2566). ‘นีลเส็น’ ชี้เทรนด์ ‘คอนเทนต์ออนไลน์ 2024’ ในสมรภูมิ Multi Screen. [ออนไลน?] จาก https://www.thansettakij.com/business/marketing/581578.
  • บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน). (2566). 3Q/23 Opportunity Day Presentation | BEC World. [ออนไลน์] จาก https://hub.optiwise.io/th/documents/101137/20231120-bec-oppday-q3-2023.pdf.
  • พิริยดิส ชูพึ่งอาตม์ (2566). แจ้งการจัดตั้งกิจการร่วมค้าของบริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน). [ออนไลน์] บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน). จาก https://weblink.set.or.th/dat/news/202310/0592NWS201020230645450025T.pdf.
  • ‌สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย. (2566). NIELSEN MEDIA SPENDING เม็ดเงินโฆษณาเดือนกรกฎาคมปี [ออนไลน์] จาก https://www.adassothai.com/include/upload/images/th_exp_file/2023082303524687415.pdf.
  • สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย). (2566). CROSS PLATFORM RATING (ประจำเดือน). [ออนไลน์] จาก https://www.adteb.or.th/monthly.
  • ‌สำนักข่าวอินโฟเควสท์. (2566). BEC ขายละครช่อง 3 ให้ Mediacorp สื่อใหญ่สิงคโปร์ชม ‘บุพเพสันนิวาส’ ภาค 2 พร้อมกัน : อินโฟเควสท์. [online]. จาก https://www.infoquest.co.th/2023/329006.
  • สำนักข่าวอินโฟเควสท์. (2566). WORK บวกสวนตลาดตอบรับทุ่ม 216 ลบ.เข้าร่วมทุน 49% ใน ‘โคตรคูล’ ของโอ๊ต ปราโมทย์. [ออนไลน์] จาก https://www.infoquest.co.th/2023/349989.
  • สำนักข่าวอินโฟเควสท์. (2566). WORK-MAJOR ร่วมลงทุนใน ‘คาร์แมน ไลน์ สตูดิโอ’ ผนึกกำลังสร้างหนัง: อินโฟเควสท์. [ออนไลน์] จาก https://www.infoquest.co.th/2023/350856.

Topics