แนวโน้มสื่อไทยในมุมมอง “รศ.พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช” ชี้โควิด-19 ตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคสื่อปี 64 ในไทย

พฤติกรรมการบริโภคสื่อปี 64 ในไทย

รศ.พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช

สถานการณ์โควิด-19 และการเมืองส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนอย่างมาก ผู้คนจึงแสวงหาข้อมูลข่าวสารที่ใกล้ตัวมากขึ้น  มีการบริโภคข่าวอย่างตั้งใจและเต็มใจ เพื่อติดตามความเป็นไปของสถานการณ์เหล่านี้ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความตื่นตัวในการหาข้อมูล เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ สื่อที่รายงานคอนเทนต์แบบเรียลไทม์ก็จะมีโอกาส ขณะที่ผู้คนเองก็จะเปิดรับคอนเทนต์ที่มีทั้งสาระและบันเทิง

รองศาสตราจารย์พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

รศ. พรทิพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ผู้บริโภคใช้เวลาอยู่กับบ้านหรือทำงานที่บ้านมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีเวลาในการเสพสื่อในปริมาณที่มากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย เป็นประเด็นที่แยกขาดจากกันไม่ได้ เพราะเป็นสถานการณ์ที่รัฐบาลต้องบริหารจัดการ ยิ่งทำให้ผู้บริโภคต้องการรับข่าวสารจากหลากหลายช่องทางให้ได้มากที่สุด เพื่อนำความรู้มาป้องกันตนเองจากอันตรายหรือผลกระทบของโรคระบาด ประเภทของสื่อที่ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันน่าจะให้ความสำคัญมากที่สุด จึงเป็นสื่อที่ให้ข้อมูลข่าวสาร

อาจารย์ยังได้กล่าวถึงอิทธิพลของโควิด-19 ที่มีต่อผู้บริโภคด้วยว่า การบริโภคสื่อของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เนื่องจากปัจจุบันสื่อประเภทที่ให้สาระความรู้มักจะเรียบเรียงข้อมูลให้สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น มีทั้งความเป็นสื่อบันเทิงและสื่อที่ให้ความรู้รวมเข้าด้วยกัน ดังนั้น ผู้บริโภครุ่นใหม่จึงอาจจะไม่ได้สนใจที่จะบริโภคสื่อที่ให้ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสนใจทั้งสื่อที่ให้ทั้งสาระความรู้และความบันเทิงในเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ ความต้องการสื่อที่รายงานคอนเทนต์แบบเรียลไทม์จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นพิเศษ เพราะผู้บริโภคต้องการความรวดเร็ว จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับสื่อโทรทัศน์และสื่ออื่นๆ ที่สามารถรายงานสถานการณ์ได้แบบเรียลไทม์ เพื่อที่จะตอบสนองและมัดใจผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่อาจจะเรียกได้ว่า “Anytime, Anywhere Consumption”

สื่อออนไลน์ และโซเชียลมีเดียกับความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดของผู้บริโภคต่างวัย

รศ.พรทิพย์มองว่า ยอดผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยเริ่มอยู่ตัวและลดลง จากเมื่อสมัยก่อนที่จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเป็นผลมาจากเยาวชนรุ่นใหม่ซึ่งเคยเป็นผู้ใช้กลุ่มใหญ่ในเฟซบุ๊กเริ่มทยอยย้ายไปใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่น เพราะเฟซบุ๊กไม่ใช่แพลตฟอร์มที่ตอบสนองความต้องการได้ดีที่สุดอีกต่อไปแล้ว ประกอบกับที่เมื่อผู้ปกครองหรือญาติผู้ใหญ่หันมาใช้เฟซบุ๊กกันมากขึ้น กลุ่มเยาวชนหรือเด็กวัยรุ่นใหม่จึงเลือกย้ายไปใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่นด้วยเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัว และการแสดงอัตลักษณ์หรือตัวตนของเยาวชนรุ่นใหม่ที่ต้องการนำเสนอความเป็นตัวเองผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ดังนั้นโซเชียลมีเดียอื่นๆ จึงเข้ามาเป็นคู่แข่งที่แย่งชิงความนิยมไปจากผู้ใช้งานกลุ่มนี้ และเป็นช่องทางที่แสดงอัตลักษณ์ของเยาวชนรุ่นใหม่แทน เช่น ทวิตเตอร์ ฯ

อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กยังถือเป็นสื่อที่ยังคงมีผู้ใช้งานเเป็นจำนวนมาก เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการได้ทั้งในเชิงส่วนบุคคลและเชิงธุรกิจ นอกจากบัญชีผู้ใช้ส่วนตัวแล้วองค์กรทางธุรกิจต่างๆ ก็นิยมใช้เฟซบุ๊กเพื่อทำการตลาดอย่างแพร่หลาย

ในส่วนของไลน์นั้น รูปแบบของการใช้งานในไทยมักจะใช้เพื่อการติดต่อกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่การใช้งานด้วยจุดประสงค์ส่วนตัวอื่นๆ เช่น การแสดงจุดยืนทางความคิด จะสังเกตเห็นได้ว่าโซเชียลมีเดียต่างแพลตฟอร์มก็มีจุดแข็งที่แตกต่างกันออกไป อย่างอินสตาแกรมมักนิยมใช้ในการแสดงออกถึงไลฟ์สไตล์หรือวิถีความเป็นตัวของตัวเองในด้านต่างๆ

“เยาวชนรุ่นใหม่จะรู้ดีว่าแต่ละแพลตฟอร์มมีจุดแข็งจุดด้อยอย่างไร และสามารถเลือกใช้โซเชียลมีเดียตามความต้องการที่ตอบโจทย์ตัวเองมากที่สุด”

กลุ่ม Gen Y หรือ Gen Z อาจเลือกใช้อินสตาแกรมกันเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นช่องทางการแสดงตัวตนในกลุ่มเพื่อนหรือผู้ที่มีความสนใจร่วมกัน ขณะที่เฟซบุ๊กอาจจะใช้เป็นช่องทางการแสดงออกต่อผู้คนวงกว้างเป็นสาธารณะ ในส่วนของทวิตเตอร์นั้น กลุ่ม Gen Y หรือ Gen Z จะเน้นการใช้งานเพื่อการแสดงออกถึงจุดยืนทางความคิดหรือแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ ได้อย่างชัดเจนกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ รวมถึงการติดตามข่าวสาร โดยใช้ประโยชน์จากการเป็นแพลตฟอร์มที่รวดเร็วและไม่อยู่นิ่ง ผนวกกับการใช้งานเพื่อรวมตัวกันในกลุ่มที่มีความคิดเห็นร่วมกัน เช่น กลุ่มผู้ที่ชื่นชอบดาราเกาหลี หรือกลุ่มผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองในลักษณะเดียวกัน ติ๊กต็อก เองก็เป็นแพลตฟอร์มที่นับว่าเข้ามาในไทยได้ไม่นาน แต่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในปีพ.ศ. 2564 โดยมีจุดเด่นด้านการเป็นแพลตฟอร์มด้านความบันเทิงเป็นหลัก รศ.พรทิพย์ชี้ว่า ผู้บริโภคยุคปัจจุบันต้องการสื่อที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กันได้ (Interactive) เมื่อผู้บริโภคถาม ก็ต้องตอบได้ การเลือกใช้สื่อโซเชียลมีเดียจึงตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มาก ดังเช่นที่ว่า

ผู้บริโภคยุคนี้ เขาเรียกว่ายุค Anytime, anywhere consumption คือสามารถ Consume ทุกอย่างได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน หรือเมื่อไรก็ได้ เพราะฉะนั้นโซเชียลมีเดียจึงเข้ามาตอบสนองผู้บริโภค

ซึ่งเป็นอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอีกทีหนึ่ง

หากแบรนด์หรือองค์กรใดไม่เลือกใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย จะทำให้ตามไม่ทันตลาดและไม่สามารถเจาะความต้องการของผู้บริโภคยุคปัจจุบันได้ ทางฝั่งแบรนด์หรือองค์กรที่ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อช่วยในการตลาดก็ต้องพึงระวังในการใช้โซเชียลมีเดียไม่ให้กลายมาเป็นดาบสองคมที่ส่งผลเสียต่อตัวองค์กรเอง

รศ.พรทิพย์ กล่าว

โซเชียลมีเดียยังแรงต่อเนื่อง เหตุผู้คนต้องการพื้นที่ในการแสดงจุดยืนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์การเมืองร้อนแรง

รศ.พรทิพย์ กล่าวว่า คนไทยในปัจจุบันนิยมใช้โซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก และน่าจะยังคงเป็นที่นิยมต่อไปเรื่อยๆ ด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ

1) สถานการณ์การเมืองปัจจุบันซึ่งค่อนข้างมีกรอบจำกัดด้านการแสดงออก เนื่องจากผู้คนไม่มีช่องทางอื่นในการแสดงความคิดเห็น โซเชียลมีเดียจึงเป็นเหมือนพื้นที่อิสระในการแสดงจุดยืนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

2) การใช้เพื่อการศึกษาก็ยังพบได้มาก ด้วยสภาพการศึกษาที่ต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ จึงอาจจะมีการพึ่งพาการใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อกลางร่วมด้วยเสมอ เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้สอนและนักเรียน และ

3) การใช้เพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจ ซึ่งมีประโยชน์และสามารถช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จได้จริง

อย่างไรก็ดี เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเรียนรู้เพื่อการกลั่นกรองข้อมูลในอินเทอร์เน็ต หรือ Information Literacy นับเป็นองค์ความรู้แบบใหม่ที่คนรุ่นใหม่ซึ่งคุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ตอาจมีความถนัดและเชี่ยวชาญมากกว่าคนรุ่นเก่า

อาจารย์พรทิพย์ กล่าวต่อไปว่า การค้นหาข้อมูลผ่านเครื่องมือค้นหา (Search Engine) อย่างกูเกิ้ลยังคงเป็นช่องทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากใช้งานง่ายและสะดวก ผู้ให้บริการอย่างกูเกิ้ลก็เล็งเห็นความต้องการของผู้บริโภคจึงได้คอยพัฒนาหรือเสริมสร้างบริการอย่าง Google Scholar เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับการค้นหาข้อมูลด้านวิชาการโดยเฉพาะ

อาจารย์ยังตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในลักษณะนี้ องค์ความรู้ของคนรุ่นใหม่จึงจะมีลักษณะที่ “ดิ่งลึก” มากกว่าเป็น “วงกว้าง” กล่าวคือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรุ่นใหม่สามารถค้นหาข้อมูลเชิงลึกในประเด็นที่ตนเองสนใจได้อย่างละเอียด จากหลากหลายแหล่งข้อมูล ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในด้านความสนใจส่วนตัว มากกว่ารู้กว้างแต่ไม่ลึกในหลากหลายประเด็น

ด้าน OTT TV หรือ Streaming Media มีโอกาสเติบโตเรื่อยๆ แต่สำหรับตลาดประเทศไทยอาจมีจุดที่น่าเป็นห่วงคือพฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศไทยยังคงมีปัญหาด้านการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นจำนวนมาก เมื่อสื่อต่างประเทศเจ้าใหญ่ เช่น Netflix, Disney+ Hotstar หรือเจ้าอื่นๆ เข้ามาลงทุนในตลาดประเทศไทยอย่างจริงจัง อาจจะมีการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เด็ดขาดมากขึ้น แต่ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ก็อาจจะยังคงมีอยู่ หากไม่มีการปลูกฝังค่านิยมการเคารพลิขสิทธิ์ในกลุ่มผู้บริโภคสื่อไทยอย่างทั่วถึง

ในขณะที่ Netflix เป็นบริการ OTT TV เจ้าใหญ่ครองตลาดไทยอย่างชัดเจน น่าสังเกตที่ผู้ให้บริการ OTT TV บางเจ้าอย่าง Amazon Prime ยังไม่เลือกตีตลาดในไทย อาจเป็นเพราะตลาดในประเทศไทยยังไม่ใหญ่มากพอที่ต่างชาติบางเจ้าจะเลือกตัดสินใจลงทุน ส่วนทางผู้ให้บริการจากจีน (WeTV และ iQiyi) และฮ่องกง (Viu) มีการตีตลาดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทางผู้จัดรายการโทรทัศน์ไทยอาจไม่สามารถซื้อลิขสิทธิ์รายการจากจีน เกาหลีใต้ ที่ปรากฏอยู่ในบริการ OTT TV เหล่านี้มาฉายทางฟรีทีวีได้อีกแล้ว

OTT TV ยังมอบโอกาสให้ภาคธุรกิจต่างๆ สามารถใช้ทำการตลาดหรือโฆษณาทางอ้อม ผ่านการ Tie-in สินค้าหรือบริการแทรกไปในคอนเทนต์ เช่น ตัวละครในซีรี่ส์เลือกใช้สินค้าของแบรนด์ที่มีขายอยู่จริง ฉายให้เห็นชื่อแบรนด์ชัดเจนเพื่อเป็นการโปรโมต แต่สำหรับการลงโฆษณาโดยตรงอาจจะยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากกฎระเบียบข้อตกลงของทางผู้ให้บริการ ยกเว้นกลุ่มที่เป็นบริการรูปแบบดูฟรีอย่าง WeTV หรือ Viu ซึ่งอาจมีการฉายโฆษณาแทรกระหว่างการดูวิดิโอ และเชิญชวนให้ผู้บริโภคจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อดูวิดิโอได้อย่างไม่มีโฆษณาแทรก

เมื่อกล่าวถึงแพลตฟอร์มที่มาแรงช่วงต้นปีพ.ศ. 2564 อย่าง คลับเฮาส์ (Clubhouse) รศ.พรทิพย์มองว่าคลับเฮาส์ไม่น่าจะมีแนวโน้มโตไปมากกว่านี้ เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเข้าถึงค่อนข้างสูง ตัวแพลตฟอร์มมีลักษณะเป็นพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนพูดคุยกับผู้ที่มีความสนใจร่วมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ มากกว่าที่จะนำไปใช้เสมือนเป็นพื้นที่เปิด จึงไม่เหมาะกับการนำไปประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง

รศ.พรทิพย์ยังเล่าถึงงานวิจัยเกี่ยวกับการค้นหาข้อมูลของกลุ่ม Gen Z ด้วยว่า จากการวิจัยดังกล่าวทำให้ทราบว่า Gen Z ส่วนมากใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นหาความรู้ ทำให้องค์ความรู้ของเยาวชนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z อาจมีมากกว่าคนรุ่นเก่า เพราะได้เติบโตมากับยุคที่ความรู้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และเข้าถึงได้ลึก

นอกจากนี้ผลวิจัยยังทำให้ทราบว่า Gen Z สามารถใช้โซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ได้อย่างมีความรู้ ความเข้าใจ และรู้จักกลั่นกรองได้เป็นอย่างดี ดังที่สังเกตว่าผู้คนที่เป็นเหยื่อข้อมูลเท็จในอินเทอร์เน็ต มักเป็นผู้สูงอายุมากกว่าเยาวชน เยาวชนรุ่นใหม่จึงเป็นความหวังที่จะสามารถนำแนวคิดที่เป็นหลักสากลมาประยุกต์ใช้กับวงการสื่อ

จับตาการรายงานข่าวในรูปแบบของ Investigative news กลับมาแล้ว!

รศ.พรทิพย์ ยังได้เปิดเผยมุมมองที่มีต่อรูปแบบการรายงาน “ข่าว” ด้วยว่า ที่ผ่านมา การรายงานข่าวในรูปแบบของเชิงสืบสวนและตรวจสอบ (Investigative news) ได้หายไปจากวงการอยู่ช่วงหนึ่ง และก็กลับมา ดังจะเห็นได้จากการนำเสนคอนเทนต์ประเภทข่าวที่สื่อรุ่นใหม่ได้หยิบมานำเสนอ พร้อมกับ “เจาะลึก วิเคราะห์ และต่อยอด” ประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างหรือกำลังเป็นกระแส อย่างข่าวน้ำท่วม ผู้ชมไม่ได้อยากรู้ว่า นํ้าท่วมที่ไหนเพียงอย่างเดียว ถ้าอย่างนั้นจะเป็นข่าวแบบ in general แต่ถ้ามีบางช่องที่รายงานว่า สาเหตุของนํ้าท่วมเกิดจากอะไร ปัญหาอยู่ที่ไหน และจะแก้ไขอย่างไร ก็จะมีโอกาสได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากกว่า” อาจารย์พรทิพย์ กล่าว ด้วยความที่รูปแบบการบริโภคข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคในปัจจุบัน จะรับข่าวสารจากหลายแหล่ง และลงลึกถึงข้อมูลที่ตัวเองสนใจ ดังนั้น สื่อที่นำเสนอข่าวหรือคอนเทนต์ที่มีความน่าเชื่อถือและเจาะลึกเพิ่มเติม เพื่อนำเสนอข้อมูลในมิติที่ลึกขึ้น จะได้รับความนิยมและถูกติดตามจากผู้บริโภค

“รสนิยมการบริโภคข่าวสารของผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีความต้องการรู้ลึก เจาะลึก และรับสารจากหลากหลายช่องทางมากขึ้น สำนักข่าวใดที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ละเอียด มีความน่าเชื่อถือ จะดึงความสนใจจากผู้บริโภคยุคใหม่ได้มากกว่า” อาจารย์กล่าว

ปิดท้ายด้วยมุมมองที่มีต่อสื่อดั้งเดิมว่า “จะอยู่หรือจะไป”

รศ.พรทิพย์ มองว่า สำหรับสื่อประเภทนิตยสารนั้น เพื่อความอยู่รอด อาจต้องเน้นเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะด้าน เนื่องจากสื่อประเภทนิตยสารมักเป็นผลผลิตมาจากผู้เขียนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและได้เขียนงานในขอบเขตหัวข้อที่ตนเองรู้ลึก รู้จริง กลายมาเป็นจุดขายเฉพาะตัว หากให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะด้านโดยปรับตัวให้เท่าทันกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นทางรอดหนึ่งของนิตยสารตีพิมพ์ซึ่งเริ่มเลือนหายไปตามยุคสมัย

สมมติเราชอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับดนตรี ถ้าเป็นนิตยสารดนตรีโดยเฉพาะ มันคือที่หาความรู้ของคนรักดนตรีจริงๆ เทียบกับการค้นหาผ่านกูเกิ้ลด้วยตนเอง และต้องดูว่าเนื้อหามีความน่าเชื่อถือไหม มีความถูกต้องหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นนิตยสาร จะมีการคัดสรรเนื้อหาที่มีความน่าเชื่อถือโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาเรียบร้อยแล้ว

ในความเห็นของอาจารย์พรทิพย์ กลุ่มผู้อ่านนิตยสารฉบับตีพิมพ์ คงจะเลือนหายไปตามยุคสมัย เพราะผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา และการมาของอุปกรณ์เทคโนโลยีประเภทแท็บเล็ตคงจะเข้ามาแทนที่ความต้องการของผู้อ่านนิตยสารในแบบรูปเล่ม เนื่องจากสามารถพกพาไปอ่านได้ทุกที่คล้ายกับลักษณะสำคัญของนิตยสารรูปเล่มแบบดั้งเดิม

วิทยุ นับว่ายังมีความต้องการจากกลุ่มที่ต้องการเปิดวิทยุฟังระหว่างขับรถ แต่โดยส่วนมากได้ปรับตัวกลายเป็นวิทยุรูปแบบออนไลน์ (Podcast) แทนวิทยุแบบดั้งเดิม โดยสื่อประเภทวิทยุมีจุดแข็งที่มี “ความเป็นเพื่อน” สามารถเปิดฟังระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ เวลาอยู่คนเดียว เมื่อเราต้องการฟังอะไร ผู้จัดรายการจะคัดสรรมาให้ตามที่ต้องการได้ ในภาพรวมนั้นสื่อวิทยุไม่ได้เลือนหายไปจากตลาด เพียงแต่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามยุคสมัยในรูปแบบออนไลน์แทน

โทรทัศน์เองก็เช่นเดียวกัน โทรทัศน์ยังเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และไม่มีทางที่จะหายไป เพียงแต่อาจมีการปรับตัวหรือปรากฏอยู่บนหลากหลายแพลตฟอร์มมากขึ้น โดยเฉพาะแพลตฟอร์มออนไลน์ การดูโทรทัศน์ไม่จำกัดอยู่เพียงเครื่องโทรทัศน์แบบดั้งเดิมอีกต่อไป แต่ผู้คนอาจดูโทรทัศน์ผ่านจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอสมาร์ทโฟน หรือหน้าจอแท็บเล็ต

อาจารย์พรทิพย์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการบุกตลาดไทยของรายการโทรทัศน์ต่างประเทศว่าอาจจะเป็นสัญญาณอันตรายวงการรายการโทรทัศน์ไทย เนื่องจากตลาดรายการโทรทัศน์ไทยยังคงอยู่กับรสนิยมรายการรูปแบบเดิมๆ ไม่มีการปรับให้ทันสมัยตอบความต้องการของคนรุ่นใหม่ ทำให้ผู้บริโภคอาจหันไปเลือกดูรายการโทรทัศน์ของต่างประเทศแทน

เรื่องนี้เป็นผลพวงจากกรอบแนวคิดหรือค่านิยมดั้งเดิมของไทยที่ค่อนข้างอนุรักษ์นิยม ส่งผลให้รูปแบบรายการโทรทัศน์ไทยค่อนข้างอยู่กับที่ หากไม่ผลิตรายการรูปแบบใหม่ที่มีแนวคิดแบบสากลขึ้น รายการโทรทัศน์ไทยอาจจะไม่สามารถคงอยู่ต่อไปได้ นอกจากนี้ปัจจุบันผู้บริโภคสามารถจ่ายเงินเพื่อดูรายการต่างประเทศได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรอผู้จัดรายการโทรทัศน์ซื้อลิขสิทธิ์นำเข้ามาฉาย การลงทุนด้วยการซื้อลิขสิทธิ์มาฉายทางโทรทัศน์ไทย จึงอาจไม่ตอบโจทย์ได้ดีในยุคปัจจุบันเท่าไรนัก

แต่ในกลุ่มรายการโทรทัศน์ก็มีรายการหนึ่งที่เป็นข้อยกเว้นคือ “รายการข่าว” เนื่องจากข่าวในประเทศไทยก็ต้องพึ่งพาการรับรู้จากสื่อในไทยเท่านั้น แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจคือ รสนิยมการบริโภคข่าวสารของผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีความต้องการรู้ลึก เจาะลึก และรับสารจากหลากหลายช่องทางมากขึ้น สำนักข่าวใดที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารได้ละเอียด มีความน่าเชื่อถือ จะดึงความสนใจจากผู้บริโภคยุคใหม่ได้มากกว่า

Topics

More Posts